อุโบสถวัดพระธรรมกาย
ความงดงามล้ำค่า ชั่วนิจนิรันดร์
อุโบสถวัดพระธรรมกายเริ่มก่อสร้างเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๒๐ เสร็จสมบูรณ์เมื่อวันศุกร์ที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๕ สถาปัตยกรรมเป็นแบบไทยประยุกต์ โดยมีวัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนารามราชวรวิหารเป็นต้นแบบ การออกแบบยึดหลักความแข็งแรง คงทน เรียบง่าย แต่สง่างาม มีช่อฟ้าคู่ หลังคาโค้งรับกับขอบฟ้า ด้านหลัง อุโบสถจารึกข้อความเกี่ยวกับการสร้างอุโบสถไว้บนแผ่นหินอ่อน การก่อสร้างทำด้วยความละเอียดและประณีต วัสดุอุปกรณ์ทุกชนิดคัดเลือกแต่สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในสมัยนั้น ดังเช่น หินเกล็ดที่ประดับผนังโบสถ์ภายนอก ต้องคัดเลือกหินทีละเม็ด เลือกเฉพาะเม็ดที่มีสีขาวบริสุทธิ์เท่านั้น
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จแทนพระองค์ เพื่อวางศิลาฤกษ์ และในวันอังคารที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๓ มีพิธีผูกพัทธสีมาภายในอุโบสถรองรับพระภิกษุเข้าร่วมประกอบสังฆกรรมพร้อมกันได้ครั้งละ ๒๐๐ รูป อุโบสถหลังนี้เป็นสถานที่บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาแล้วเป็นจำนวนหลายหมื่นรูป สร้างพระภิกษุสืบทอดพระพุทธศาสนาและสร้างคนดีให้แก่สังคมเป็นจำนวนมาก
พระประธานในอุโบสถวัดพระธรรมกาย
พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ ตรงตามพระไตรปิฎกและหนังสือลักษณะมหาบุรุษ ซึ่งหากใครประพฤติปฏิบัติธรรมมากขึ้น ก็จะพบพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้อยู่ในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของตนเอง อุโบสถวัดพระธรรมกายได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ.๒๕๔๑ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์