การเติมธาตุ 4 ของมนุษย์ :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

การเติมธาตุ 4 ของมนุษย์

การเติมธาตุ 4 ของมนุษย์

ธรรมชาติประจำสรีระของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความหิว, ความกระหาย, ความหนาว, ความร้อน, ความปวดปัสสาวะ, ความปวดอุจจาระ หากมองอย่างผิวเผิน สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ แต่ถ้าหากเราพิจารณากันอย่างลึกซึ้งแล้ว สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปทั้งสิ้น ซึ่งเราได้เรียนรู้กันมาแล้วว่า ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ 4 แต่ธาตุ 4 ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายของมนุษย์นั้นยังไม่บริสุทธิ์ จึงมีการตายของเซลล์ในร่างกายอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาธาตุ 4 จากภายนอกมาเติม เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ แต่ธาตุ 4 ที่นำมาเติมจากภายนอกก็ไม่บริสุทธิ์ การตายของเซลล์ในร่างกายจึงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ดังนั้น มนุษย์จึงต้องหาธาตุ 4 มาเติมอยู่เรื่อยๆ

ถ้าเรามีความสำรวมกาย มีความสำรวมวาจา เป็นอย่างดีแล้ว ก็จะสามารถทำให้ความหนาว, ความร้อน, ความหิว, ความกระหาย, ความปวดปัสสาวะ และความปวดอุจจาระ ซึ่งเป็นความทุกข์อันเกิดจากธรรมชาติประจำสรีระนี้ ลดน้อยลงได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่มีความสำรวมกาย ไม่มีความสำรวมวาจา เป็นอย่างดีแล้ว ความทุกข์อันเกิดจากธรรมชาติประจำสรีระดังกล่าว ก็จะเพิ่มมากขึ้น ความจำเป็นในการเติมธาตุ 4 ไม่ได้มีแต่เฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น แม้สัตว์ก็ต้องมีการเติมธาตุ 4 เช่นกัน หากแต่การเติมธาตุ 4 ของมนุษย์และสัตว์นั้น มีความแตกต่างกันอยู่มาก ดังนี้

เมื่อจะเติมธาตุลม สัตว์ก็จะหายใจ ส่วนมนุษย์นอกจากจะหายใจแล้ว บางคนอาจต้องการกลิ่นหอมๆ, บางคนอาจต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า “โอโซน” และบางคนอาจต้องการสูบควันจากบุหรี่ เป็นต้น

เมื่อจะเติมธาตุน้ำ สัตว์ก็จะไปหาแหล่งน้ำ เพื่อกินน้ำ ส่วนมนุษย์นอกเหนือไปจากน้ำแล้ว บางคนอาจต้องการน้ำผลไม้, บางคนอาจต้องการน้ำอัดลม, บางคนอาจต้องการเหล้า เบียร์ ไวน์ เป็นต้น

เมื่อจะเติมธาตุดิน สัตว์ก็จะไปหาอาหารกินเพื่อประทังความหิว ส่วนมนุษย์มีขั้นตอนมากกว่านั้น ตัวอย่าง เช่น หากต้องการกินข้าวเพื่อประทังความหิว จะต้องมีกระบวนการมากมาย เช่น มีการไถ, คราด, หว่าน, ดำ, พรวนดิน, ใส่ปุ๋ย, สี, หุง เป็นต้น

เมื่อจะเติมธาตุไฟ สัตว์ก็จะไปหาที่อบอุ่นหรือที่ร่มเย็น เพื่อบรรเทาความหนาวความร้อน ส่วนมนุษย์มีขั้นตอนมากกว่านั้น กว่าจะได้เครื่องนุ่งห่มมาประทังความหนาวความร้อน จะต้องมีกระบวนการมากมาย ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบไปจนถึงการตัดเย็บ เป็นต้น

ที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นได้ว่า “ความสลับซับซ้อนในการเติมธาตุ 4 ของมนุษย์มีมากกว่าสัตว์” ด้วยเหตุนี้ การเติมธาตุ 4 ของมนุษย์ จึงถูกบังคับให้ต้องทำงานเพื่อหาเงิน จากนั้น จึงนำเงินที่หาได้ไปแลกเป็นปัจจัย 4 แล้วจึงจะได้ธาตุ 4 มาเติมเพื่อดำรงชีวิต

ตรงนี้เองที่เป็นจุดอันตราย กล่าวคือ หากเราตั้งคำถามว่า “ทำงานไปทำไม” จะไม่มีใครตอบว่า “ทำงานเพื่อเติมธาตุ 4” ทุกคนต่างตอบว่า “ทำงานเพื่อเอาเงิน” ทั้งนี้เป็นเพราะมองไปไม่ถึงว่า ทำงานหาเงินเพื่อนำไปแลกปัจจัย 4 แล้วจึงจะได้ธาตุ 4 มาเติมเพื่อดำรงชีวิต เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เงินที่ได้มานั้น ไม่ว่าจะได้มาจากการประกอบอาชีพดี (สัมมาอาชีวะ) หรืออาชีพชั่ว (มิจฉาอาชีวะ) ก็ตาม ทั้งสองอย่างนี้ต่างก็ทำให้ได้เงินมา จึงกลายเป็นว่า ไม่ว่าอาชีพดีหรืออาชีพชั่ว ถ้าตีเป็นมูลค่าแล้ว “เท่ากัน” เพราะได้เงินเหมือนกัน สรุปว่าเงินที่เกิดจากอาชีพดีหรือเกิดจากอาชีพชั่ว มีค่าเท่ากัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มองให้ลึกซึ้ง จะเข้าใจว่า “ทำดีหรือทำชั่ว มันก็เท่ากัน” แล้วต้องไปห่วงทำไมว่าดีหรือชั่ว ความดี ความชั่ว ไม่มีความหมาย ความดี ความชั่ว ก็เท่ากัน นี้คือความผิดพลาดที่เกิดในโลกมนุษย์

ถ้ามองให้ลึกซึ้ง เราจะพบว่า “การที่เราทำงาน เพราะเราต้องการจะเติมธาตุ 4” แต่ขณะที่ทำงาน เราต้องเอาตัวของเราไปทำ เอาร่างกาย เอาใจ ไปทำ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องทำกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไปด้วย “การทำงาน” จึงกลายเป็น “การทำกรรม” แต่กรรม มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว

เราจะเห็นว่า... กรรมดี ได้เงิน ได้ธาตุ 4 ในทำนองเดียวกัน... กรรมชั่ว ได้เงิน ได้ธาตุ 4 แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ…

  • กรรมดี สุขภาพกายดี / กรรมชั่ว สุขภาพกายทรุดโทรม
  • กรรมดี สุขภาพใจดี ใจเบิกบาน / กรรมชั่ว สุขภาพใจแย่ ใจทราม
  • กรรมดี ได้บุญ / กรรมชั่ว ได้บาป (บางคนอาจบอกว่า บุญ บาป มองไม่เห็น)
  • กรรมดี มีความสุข ได้นิสัยดีๆ / กรรมชั่ว มีความทุกข์ ได้นิสัยเลวๆ และนิสัยทั้งดีและเลวนี้ จะกลายเป็นโปรแกรมกรรมดี – กรรมชั่วต่อไป ถึงเวลาเมื่อกลายเป็นนิสัยแล้ว ก็จะไปทำดี – ทำชั่วตามนิสัยของตัว โปรแกรมดี – ชั่วได้เกิดขึ้นมาแล้วกับการทำกรรมดังที่กล่าวมานี้
  • กรรมดี งานการก้าวหน้า ได้มิตรแท้ / กรรมชั่ว การงานตกต่ำ, ได้ศัตรู

กล่าวโดยสรุป ประกอบอาชีพดี (ทำกรรมดี) ก็ได้เงิน ได้ธาตุ 4 มา ในทำนองเดียวกัน ประกอบอาชีพชั่ว (ทำกรรมชั่ว) ก็ได้เงิน ได้ธาตุ 4 มา แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือ บุญกับบาป, นิสัยดีกับนิสัยชั่ว, ความสุขกับความทุกข์, มิตรแท้กับมิตรเทียมหรือศัตรู นี้คือสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้ดี ซึ่งความรู้เหล่านี้มีปรากฏชัดในคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

โปรดติดตามในครั้งต่อไป...

เรียบเรียงจากรายการนานาเทศนา ตอน ศัตรูที่แท้จริง (ออกอากาศทาง DMC) พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อทัตตชีโว

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้