อุปสมบทหมู่ธรรมทายาท รุ่นเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2552
หนึ่งพรรษา เพื่อคุณค่า ตลอดชีวิต
ในสมัยพุทธกาลเมื่อถึงฤดูฝน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาตามวัดวาอาราม หรือบริเวณที่กำหนดขึ้นเป็นเวลา 3 เดือน จึงเป็นโอกาสอันดี ที่พระภิกษุสามเณรจะได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัย และประพฤติ ปฏิบัติธรรม สั่งสมบุญบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไป เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษา จึงเกิดประเพณีอันสืบเนื่องมาแต่โบราณว่า ชายไทยต่างนิยมอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝึกฝนอบรมตนเองให้มีความบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในพระธรรมวินัย มุ่งศึกษาหลักธรรมนำมาปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ยังบกพร่องในตนเองให้สมบูรณ์ เพื่อเตรียมตัวให้เป็นคนดีที่โลกต้องการและมีวิถีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ซึ่งจะเป็นเหตุแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตตลอดไป และยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่กุลบุตรจะได้บวชเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดาอีกด้วย
ดังนั้น การมีโอกาสได้ใช้ชีวิตเป็นนักบวช แม้เพียงหนึ่งพรรษาก็สามารถรู้ เข้าใจคุณค่าและความหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ทำให้วางแผนเส้นทางชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้อย่างถูกต้อง จึงนับว่าเป็นช่วงพรรษาแห่งชีวิตที่มีคุณค่า และเป็นการพัฒนาศักยภาพอย่างแท้จริง
อานิสงส์ของการบวช
ผู้บวช ย่อมได้อานิสงส์แห่งบุญจากการบวช ได้ฝึกฝนอบรมตนเองตามพุทธวิธี และยังมีโอกาสได้บวชทดแทนคุณบิดามารดา ผู้ให้กำเนิด ซึ่งนับเป็นการตอบแทนคุณด้วยวิธีที่ดีที่สุดอีกด้วย ผลานิสงส์แห่งการบรรพชาอุปสมบท มีมากมายสุดจะนับจะประมาณได้ เช่น ย่อมทำให้ได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผู้มีปัญญา มีสัมมาทิฐิ ได้เกิดในดินแดนพระพุทธ ศาสนา มีโอกาสได้สร้างบุญบารมีต่อไปในภพชาติเบื้องหน้าอย่างน้อยถึง 64 กัป (ระยะเวลาการตั้งอยู่ของโลกหนึ่งรอบ) และบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ย่อมได้ อานิสงส์เช่นกัน ความสุขที่แท้จริงของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อุทิศพระองค์เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เห็นสัจธรรมของโลกใบนี้ว่ามีความเสื่อม สิ้นไปเป็นธรรมดา พระองค์จึงทรงชี้หนทางแห่งความสุขที่คนทั้งหลายปรารถนาไว้ว่ามีสองประการ คือ
- สามิสสะสุข; คือ ความสุขทั่วๆไปที่ต้องอาศัยคน สัตว์ สิ่งของมาปรนเปรอ ให้ได้มาซึ่งความพึงพอใจ ความสุขเหล่านี้ไม่ยั่งยืนยาวนาน หากถึงที่สุดแห่งความพอใจแล้ว จะนำมาซึ่งความผูกพัน เป็นห่วง กังวล หวง ห่วง อิจฉา ริษยา ผิดหวังและเสียใจเมื่อสิ่งเหล่านั้นได้สูญหายไป
- นิรามิสะสุข; คือ ความสุขที่เที่ยงแท้ยั่งยืน ยาวนาน และไม่กลับมาทุกข์อีก แต่จะนำมาซึ่งความสุขที่ยิ่งๆขึ้นไป ซึ่งละเอียดกว่า ประณีตกว่า คือพระนิพพาน ความสุขเหล่านี้ได้มาจากการปฏิบัติธรรมนั่นเอง
หากปราศจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียแล้ว คงจะยากที่จะหาคนมาชี้หนทางแห่งความสุขที่แท้จริงนี้ได้ แม่พระองค์เองยังใช้เวลาถึง 6 ปีในการแสวงหาความสุขที่แท้จริงมาสอนพวกราได้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงสรุปว่า ชีวิตฆราวาสเป็นหนทางที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี คือ กิเลส การจะทำตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ในเพศฆราวาสนั้นยากกย่างยิ่ง กุลบุตรเมื่อเห็นดังนี้แล้วพึงปลงผมและหนวด นุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วออกบวชเพื่อแสวงหาหนทางแห่งความสุขอันแท้จริงเถิด
คุณสมบัติของผู้ที่จะบวช
ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุได้นั้นต้องเป็นชายผู้นับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งและมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และจะต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ดังต่อไปนี้
- เป็นบัณเฑาะว์ หรือกะเทย หรืออุภโตพยัญชนก (ผู้ที่มีสองเพศในคนๆเดียวกัน)
- จะต้องไม่เป็นผู้ที่ได้ทำอนันตริยกรรม เช่นฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ หรือทำให้พระพุทธเจ้าได้ห้อพระโลหิตมาก่อน และจะต้องไม่เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดวินัยสงฆ์อย่างร้ายแรงจนต้องอาบัติปาราชิก หรือถูกขับไล่ออกจากสงฆ์มาก่อน
-
ต้องไม่เป็นโรคร้ายแรงอันจะนำมาซึ่งความน่ารังเกียจ ดังนี้
- โรคผิวหนังขั้นร้ายแรง เช่น โรคเรื้อน ฝีดาษ คุดทะราด หรือโรคติดต่อร้ายแรง
- เป็นผู้พิการทางกายเช่น ตาบอด หูหนวก แขนขาด้วน
- ไม่เป็น อัมพาต เดินหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น
- ต้องเป็นผู้ไม่มีพันธะผูกพัน เช่น หนีทหาร หนีหนี้ หนีคดีความ หรือเป็นผู้ที่ทางการได้รั้งตัวไว้ด้วยเหตุบางประการ หรือเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากบิดา มารดา หรือ ผู้ปกครอง
หน้าที่ความรับผิดชอบของพระภิกษุ
จุดประสงค์หลักของการบวชนั้นเพื่อทำความบริสุทธ์ของตนเองให้ยิ่งๆขึ้นไป โดยที่จะต้องสละตนให้พ้นออกจากเครื่องเหนี่ยวรั้งทางโลกให้ได้มากที่สุด ดังนั้นผู้บวชจึงไม่ได้บวชมาเพื่อหวังลาภสักการะ หรือเพื่อใช้ชีวิตให้รอดไปวันๆเท่านั้น แต่ผู้บวชจะต้องศึกษาธรรมะ ทั้งภาคปริยัติ และ ปฏิบัติ เพื่อมาสั่งสอนตนเอง ให้พ้นจากกองทุกข์ และทำพระนิพพานให้แจ้ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติ “กิจวัตร” ไว้ให้พระภิกษุได้กระทำ กิจวัตรเหล่านี้มีทั้งสิ่งที่ “ต้องทำ” และ “ควรทำ” พระภิกษุผู้ปฏิบัติกิจวัตรนีเป็นประจำสม่ำเสมอ จะทำให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ และจะทำให้มีตบะ คือเครื่องเผากิเลสในใจได้ ในที่สุดกิจวัตรนั้นได้ถูกแบ่งเป็นสิบข้อ ดังนี้คือ
- บิณฑบาต
- กวาดวัด
- ปลงอาบัติ
- ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา
- พิจารณาความไม่งามของตน
- ปรนนิบัติอุปัชฌาย์อาจารย์
- ออกกำลังกาย บริหารขันธ์
- ศึกษาพระธรรมวินัย
- เอาใจใส่สมบัติพระศาสนา
- ทำกริยาให้น่ากราบไหว้
กำหนดการอบรม
ระยะเวลาการอบรม: 13 มิถุนายน - 5 ตุลาคม พ.ศ.2552 (จำนวน 115 วัน)
สอบสัมภาษณ์, สอบขานนาคและตรวจร่างกาย: วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม และ 7 มิถุนายน พ.ศ.2552 เวลา 13.30 - 17.00 น. ณ หมู่บ้านบรรลุธรรม วัดพระธรรมกาย
เข้าวัดและปฐมนิเทศ: วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2552 เวลา 14.00 น. ณ หมู่บ้านบรรลุธรรม วัดพระธรรมกาย
วันบรรพชาอุปสมบท: วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2552 เริ่มพิธี 15.30 น. ณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี
จบการอบรม: วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2552
ครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชาย
วัดพระธรรมกายได้จัดการบวชให้มีขึ้นทุกปี ทั้งภาคฤดูร้อนและในตอนเข้าพรรษา ทางวัดจึงได้จัดสถานที่ให้เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่อบรมกุลบุตร ที่จะมาบวชเป็นพระในพระศาสนา และยังปรับหลักสูตรการอบรมเพื่อให้พระได้ใช้เวลาที่มาบวชไปเพื่อความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ในฤดูเข้าพรรษาของปีนี้ทางวัดได้จัดบวชพระหลายโครงการ โครงการที่ได้จัดขึ้นในตอนนี้ได้แก่ โครงการบวชพระธรรมทายาทเข้าพรรษา ซึ่งจะมีผู้มาบวชถึง 1,000 รูปด้วยกันนี้
- ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการบรรพชาอุปสมบทและอบรมพระธรรมทายาท (ไทย) www.dmycenter.com
- โทรศัพท์ (02) 831-1840-2 หรือในวันอาทิตย์ที่สภาธรรมกายสากล เสา M7 วัดพระธรรมกาย
- ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการบรรพชาอุปสมบทและอบรมพระธรรมทายาท (นานาชาติ) www.ordinationthai.org