ธรรมกายคือธรรมขันธ์
ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)
คำว่า "ธรรมกาย" ในพระคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย (สิริวัฑฒเถรคาถา) ชื่อ ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ เล่มที่ ๓๒ ข้อ ๔๑ หน้า ๑๖๗ ว่า
ปุตฺโต อปฺปฏิมสฺส ตาทิโนติ สีลกฺขนฺธาทิธมฺมกายสมฺปตฺติยา รูปกายสมฺปตฺติยา จ อนุปมสฺส อุปมารหิตสฺส อิฏฺฐานิฏฺฐาทีสุ ตาทิลกฺขณสมฺปตฺติยา ตาทิโน พุทฺธสฺส ภควโต โอรสปุตฺโต. ปุตฺตวจเนเนว เจตฺถ เถเรน สตฺถุ อนุชาตภาวทีปเนน อญฺญา พฺยากตาติ เวทิตพฺพํ .ฯ
แปลว่า : บทว่า ปุตฺโต อปฺปฏิมสฺส ตาทิโน ความว่า เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่มีที่เปรียบ คือ เว้นจากข้อเปรียบเทียบ ด้วยความถึงพร้อมแห่งธรรมกาย มีศีลขันธ์เป็นต้น และด้วยความถึงพร้อมแห่งรูปกาย ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะถึงพร้อมด้วยลักษณะของผู้คงที่
พึงทราบความว่า ก็ด้วยคำว่า ปุตตศัพท์ ในพระคาถานี้นั่นแล ชื่อว่าเป็นอันพระเถระพยากรณ์พระอรหัตผลแล้ว เพราะแสดงถึงความที่ตนเป็นผู้เกิดตามพระบรมศาสดา คำว่า "ธรรมกาย" ในคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ชื่อ มธุรัตถวิลาสินี (รจนาโดยพระพุทธทัตตะเถระซึ่งอยู่ในคราวเดียวกันกับพระพุทธโฆสาจารย์) เล่มที่ ๕๐ ข้อ ๓๗ - ๓๘ หน้า ๗๔ ว่า
อิทานิ ภควโต รูปกายธมฺมกายสมฺปตฺติทสฺสนตฺถํ "รูเป สีเล สมาธิมฺหิ ปญฺญาย จ อสาทิโส วิมุตฺติยา อสมสโม ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตเน” ติ อยํ คาถา วุตฺตา.
แปลว่า : บัดนี้ เพื่อแสดงความถึงพร้อมแห่ง รูปกายและธรรมกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระสังคีติกาจารย์ จึงกล่าวคาถานี้ว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีผู้เสมอเหมือนในพระรูป ในศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ ทรงเสมอกับพระพุทธเจ้า ที่ไม่มีใครเสมอในการประกาศพระธรรมจักร ฯ”
ขยายความ : จากข้อความในอรรถกถาที่ยกมาข้างต้น คำว่า ความถึงพร้อมแห่งธรรมกาย มีศีลขันธ์เป็นต้น (สีลกฺขนฺธาทิธมฺมกายสมฺปตฺติยา) ตามมติของพระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวหมายถึง ความถึงพร้อมแห่ง พระธรรมขันธ์ ๕ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ว่าโดยพิสดารก็ได้พระธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทั้งหมดนี้ประชุมรวมลงในธรรมกายหรือมีในธรรมกายของพระผู้มีพระภาคทั้งสิ้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามีธรรมขันธ์เป็นกายหรือมีธรรมขันธ์เป็นสรีระที่แท้จริง ดังพระฎีกาจารย์กล่าวไว้ใน สารัตถทีปนีฎีกา ๔ ปริวารวรรณนาว่า
"พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระธรรมขันธ์ กล่าวคือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ เป็นพระสรีระกาย" คำว่า กาย มีความหมายว่า เป็นที่รวม ดังเช่น รูปกาย (กายที่มีรูป ) เป็นที่รวมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ และธรรมทั้งหลายมีผมเป็นต้น เหมือนตัวของช้างตัวของรถเป็นต้นฉันใด ธรรมกาย ย่อมเป็นที่รวมแห่งธรรมขันธ์ ๕ มีศีลขันธ์เป็นต้นฉันนั้นเหมือนกัน
ดังนั้น ท่านผู้มีปรีชาปัญญาทั้งหลาย หากพบคำว่าธรรมขันธ์มีกล่าวไว้ในที่ใดในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จึงพึงเข้าใจเถิดว่า ท่านหมายเอาความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกาย หรือ หากได้ยินว่าท่านผู้ใดเข้าถึงหรือถึงพร้อมด้วยธรรมขันธ์ ๕ ก็พึงเข้าใจเถิดว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพระธรรมกาย เหมาะเป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า ดังเช่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในศีลสูตร ผาสุวิหารวรรค อังคุตตรนิกาย (เล่มที่ ๒๒) ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ๑"
และผู้นั้นแลได้ชื่อว่า เป็นบุตรเป็นโอรสอันเกิดโดยธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ จึงกล่าวว่า "ก็ด้วยคำว่า ปุตตศัพท์ ในพระคาถานั้นแล ชื่อว่าเป็นอันพระเถระพยากรณ์พระอรหัตผลแล้ว เพราะแสดงถึงความที่ตนเป็นผู้เกิดตามพระบรมศาสดา" ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่มีผู้เปรียบเทียบ เป็นผู้ไม่มีผู้ใดเสมอได้ด้วยพระธรรมกายหรือพระธรรมขันธ์นั้น เพราะทรงมีพระธรรมกายหรือพระธรรมขันธ์อันยิ่งใหญ่ ดังที่ท่านกล่าวถึงคุณบทของพระพุทธองค์ไว้ในคัมภีร์ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ว่า
"บทว่า มเหสี แปลว่า ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ คือ ศีลขันธ์ใหญ่ สมาธิขันธ์ใหญ่ ปัญญาขันธ์ใหญ่ วิมุตติขันธ์ใหญ่ และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์อันใหญ่"
ฉะนั้น พระองค์จึงไม่มีใครเสมอ ถ้าจะถอดความตามหลักปฏิบัติธรรมของหลวงปู่วัดปากน้ำฯ น่าจะหมายถึงว่า พระพุทธองค์มีดวงศีลใหญ่ ดวงสมาธิใหญ่ ดวงปัญญาใหญ่ ดวงวิมุตติใหญ่ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะใหญ่ กล่าวโดยสรุปคือมีธรรมกายใหญ่ จึงหาใครเทียบเทียมเสมอมิได้ ดังที่ตรัสไว้ในอุรุเวลสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (๒๑/๒๑๒๓) เป็นต้น ความโดยย่อว่า
"เมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ ได้ทรงปริวิตกว่า บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพยำเกรง ย่อมอยู่ลำบาก เราควรจะเคารพใครหนอที่บริบูรณ์ด้วยธรรมขันธ์ ๕ ยิ่งกว่าตน จึงได้ตรวจดูธรรมขันธ์ ๕ ภายในคือ ศีลขันธ์ สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ (ตรวจดูดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ในหลักปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฯ ผู้ที่เข้าถึงธรรมกายแล้วสามารถตรวจดูธรรมขันธ์ทั้ง ๕ ของผู้อื่นได้จริง ) ทั้งมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ทั่วทั้งภพสาม ว่าจะมีใครยิ่งกว่าหรือเสมอกันกับพระองค์ แต่ก็ไม่ทรงพบเห็นผู้ใด จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะเคารพธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั่นเอง" น่าจะหมายถึงพระธรรมกายที่พระองค์ตรัสรู้
พระเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวไว้ในอรรถกถาทั้งสองว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่มีที่เปรียบ คือ เว้นจากข้อเปรียบเทียบ ด้วยความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกายมีศีลขันธ์เป็นต้น" และว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีผู้เสมอเหมือนในพระรูป (ใน พระธรรมกาย หรือพระธรรมขันธ์) คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติ” ดังพรรณนามาฉะนี้ ฯ