หมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นแห่งแรกของโลก
วันประวัติศาสตร์แห่งการเผยแผ่วิชชาธรรมกายในประเทศญี่ปุ่น พิธีเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น แห่งแรกของโลก ณ วัดพระธรรมกายกุมมะ (Wat Phra Dhammakaya Gunma) ประเทศญี่ปุ่น ในวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2558 โดยได้รับความเมตตาจาก พระเดชพระคุณพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และรองประธานมูลนิธิธรรมกาย เมตตามาเป็นประธานในครั้งนี้
หมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นแห่งนี้ สร้างโดยใช้หลักความสะอาด ความเป็นระเบียบ และความเรียบง่าย อันจะน้อมนำจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมให้เกิดความสงบได้โดยง่าย หมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นแห่งนี้ เกิดขึ้นจากความดำริของ พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ที่ว่า “สันติภาพภายนอก เริ่มต้นจากสันติสุขภายใน” พิธีเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ กล่าวคือ
- เพื่อประกาศเกียรติคุณให้กับชาวญี่ปุ่น ที่มาปฏิบัติธรรมและช่วยเหลืองานพระศาสนาของวัดสาขาในประเทศญี่ปุ่นของวัดพระธรรมกายทั้ง 10 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติธรรมญี่ปุ่น (Thai Bukkyo Meisou Center)
- เพื่อการสร้างมหากุศลครั้งใหญ่ในการทอดผ้าป่าสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น
บรรยากาศในพิธีประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วย
พิธีเปิดป้ายหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น (Thai Meisou Village) เป็นพิธีกรรมแบบญี่ปุ่น โดยประธานฝ่ายฆราวาส คือ กัลยาณมิตรพรสรร กำลังเอก และ กัลยาณมิตรโมหงิ มิคิโอะ นำโดย พระเดชพระคุณพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ประธานสงฆ์ ตัดริบบิ้นและกดปุ่มเปิดป้ายหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น ท่ามกลางความปลื้มปีติใจของเหล่าสาธุชนทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่นที่มาร่วมพิธี
พิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ชาวญี่ปุ่น ที่มีอุปการคุณช่วยงานพระศาสนา จำนวน 62 ท่าน ในการนี้สาธุชนชาวไทยทุกท่านได้ร่วมแสดงความยินดี ด้วยการปรบมือและเปล่งเสียงสาธุการดังกึกก้องไปทั่วบริเวณพิธีกรรม ให้แก่ชาวญี่ปุ่นขณะรับใบประกาศเกียรติคุณจากพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ทำให้ชาวญี่ปุ่นเหล่านั้นมีความปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง และมีกำลังใจในการช่วยงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ต่อไปด้วยความเข้มแข็ง
พิธีปลูกต้นไม้มหามงคล ในโอกาสนี้ พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ได้อธิษฐานจิตไว้ว่า “ขอให้ร่มไม้มงคลต้นนี้ นำความเย็นกายเย็นใจ มาสู่มหาชนทั้งหลาย ให้สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม บุคคลใดที่ได้มาปฏิบัติธรรม ณ หมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ขอให้เทวดาปกป้องคุ้มครองรักษา ขอให้บรรลุธรรมได้โดยง่ายโดยเร็วพลัน ขอให้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงแผ่ขยายไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ทั่วทั้งโลก โดยเร็วพลันเทอญ”
พิธีถวายสังฆทานและตักบาตรที่บริเวณแนวทางเดินของหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น นำโดยพระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความปลื้มปีติของสาธุชนชาวญี่ปุ่นและชาวไทยที่มาร่วมพิธีในครั้งนี้
พิธีทอดผ้าป่าสร้างหมู่บ้านปฏิบัติธรรมชาวญี่ปุ่น โดยประธานในพิธี คือ กัลยาณมิตรพรสรร กำลังเอก
พิธีในวันนี้ มีพระภิกษุเดินทางมาเป็นเนื้อนาบุญจำนวน 53 รูป ให้กับสาธุชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่นกว่า 400 ท่าน ที่มาร่วมพิธี โอกาสนี้ พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ได้แสดงพระธรรมเทศนา มีใจความตอนหนึ่งว่า
“...ประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจในโซนเอเชีย เพราะว่าบรรพบุรุษของคนญี่ปุ่นเข้าใจหลักการสร้างชาติให้มีความเจริญ โดยต้องเริ่มต้นจากการสร้างคนให้มีคุณภาพ และสิ่งที่เป็นพื้นฐาน คือ วินัย ดังนั้น วินัย สร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองได้ ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองได้ปฏิบัติตามหลักความสะอาด ความเป็นระเบียบ ความสุภาพ ความตรงต่อเวลา อันจะนำพาจิตใจให้เป็นสมาธิในระดับเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ได้นั่งสมาธิ ถ้าหากคนญี่ปุ่นได้ฝึกสมาธิอย่างจริงๆจังๆ ก็จะทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางด้านจิตใจต่อไปในอนาคต
บันทึกของผู้เข้าถึงวิชชาธรรมกายรุ่นเก่าในสมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ (พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร) มีชีวิตอยู่ ได้บันทึกไว้ว่า วิชชาธรรมกายจะเจริญรุ่งเรืองได้ในผู้ที่มีวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีวินัย ประเทศที่มีวินัย ซึ่งประเทศที่มีวินัยดีในโลกมีอยู่สองประเทศ ในทวีปเอเชีย คือ ประเทศญี่ปุ่น ในทวีปยุโรป คือ ประเทศเยอรมัน สำหรับประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักอยู่แล้ว ส่วนประเทศเยอรมันยังนับถือศาสนาอื่นอยู่ ต่อไปในภายภาคหน้า ถ้าจะเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก จะต้องไปเริ่มกับประเทศที่มีวินัยเคร่งครัดในยุคนั้นๆ
ขณะนี้ทั่วโลกยอมรับว่า ทั้งประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน เป็นประเทศที่มีวินัยเคร่งครัด ดังนั้น การมาเปิดหมู่บ้านปฏิบัติธรรมแห่งนี้ เป็นการทำตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้สั่งไว้ว่า การจะขยายวิชชาธรรมกายได้ ต้องขยายไปยังประเทศที่มีวินัย”