พุทธประเพณี: บวชพระ เดินธุดงค์ อบรมศีลธรรม :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

พุทธประเพณี: บวชพระ เดินธุดงค์ อบรมศีลธรรม

พุทธประเพณี: บวชพระ เดินธุดงค์ อบรมศีลธรรม

“...ตลอด 45 ปี ของวัดพระธรรมกาย เรายังคงมุ่งมั่นดำเนินกิจกรรม “สร้างวัดให้เป็นวัด

สร้างพระให้เป็นพระ สร้างคนให้เป็นคนดี” สิ่งที่เห็นและได้ยินจนคุ้นหูคุ้นตาของคนทั้งในและต่างประเทศ คือ การบวชพระแสนรูป เด็กดีวีสตาร์ ตักบาตรพระ และธุดงค์ธรรมชัย...”

พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส

ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร (ในฐานะโฆษกวัดพระธรรมกาย)

วัดพระธรรมกาย คนรุ่นใหม่สร้างวัด

การสร้างวัดให้เป็นวัด ของวัดพระธรรมกาย เริ่มจากการ “ขุดดินก้อนแรก” เมื่อวันมาฆบูชา ปี พ.ศ.2513 โดยดำริของ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และ พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาส ร่วมด้วยช่วยกันกับรุ่นพี่รุ่นน้อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ จนกล่าวได้ว่า วัดพระธรรมกายกำเนิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น โดยการสนับสนุนจากกลุ่มปฏิบัติธรรม “บ้านธรรมประสิทธิ์” ที่วัดปากน้ำ ของอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง หรือ “คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง” นามที่ศิษยานุศิษย์กล่าวขานถึงด้วยความเคารพ

“คนไม่เข้าวัด” หรือ “วัดไม่น่าเข้า” ?

เวลาทำงานอะไร พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ท่านสอนเสมอว่า “ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามที่ว่า “What, Why, How” การสร้างวัดพระธรรมกายก็เช่นกัน เริ่มต้นจากคำถามเหล่านี้ ความตั้งใจที่จะให้วัดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมใหญ่ของการปฏิบัติสมาธิภาวนาของพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนทุกเพศทุกวัย คือ ความมุ่งหมายสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามสภาพการณ์ของสังคมเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว วัดส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดึงดูดใจคนในวัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงคนวัยทำงานให้เข้ามาร่วมกิจกรรมอันเป็นกุศลได้มากนัก มีก็แต่คนสูงวัยที่เข้าวัด จึงเกิดคำถามว่า “คนไม่เข้าวัด” หรือ “วัดไม่น่าเข้า” ?... แล้ว “ทำอย่างไรคนถึงจะเข้าวัด”

ความดีสากล 5 ประการ

ถ้าวัดหรือบ้านไม่สะอาด ก็เป็นแหล่งดึงดูดและเพาะพันธุ์มด แมลง สัตว์เลื้อยคลาน การฆ่าหรือกำจัดแมลงและสัตว์ต่างๆก็เกิดขึ้น ถ้าข้าวของวางไม่เป็นระเบียบ ปล่อยปละละเลย ดูแลรักษาไม่รัดกุม การลักขโมยก็เกิดขึ้น ถ้าพูดจาหรือแต่งกายไม่สุภาพ การล่วงละเมิดทางเพศก็เกิดขึ้น ถ้าทำอะไรไม่ตรงเวลา ไม่ทำตามขั้นตอน การโกหกก็จะเกิดขึ้น และถ้าขาดสติทุกอย่างก็พัง วัดพระธรรมกายจึงฝึกความสะอาด เป็นระเบียบ สุภาพ ตรงต่อเวลา และกำหนดให้การกิจกรรมทุกอย่างต้องมีสมาธิเป็นตัวนำ ไม่ว่าจะทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ตอกเสาเข็ม เปิดอาคารใหม่ ถวายสังฆทาน ต้องเริ่มด้วยการนั่งสมาธิก่อนทั้งสิ้น

ผู้ที่เข้ามายังวัดพระธรรมกาย จึงได้พบกับ “ความสะอาด เป็นระเบียบ สุภาพ ตรงต่อเวลา และสมาธิ” เหล่านี้ดำเนินไปในแนวทางคุณธรรมพื้นฐานของ “ศีล 5” โดยถอดแบบออกมาเป็นรูปธรรมให้สามารถฝึกปฏิบัติได้จริง เรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “ความดีสากล 5 ประการ” (Universal Goodness 5: UG5) ซึ่งทุกเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ ล้วนทำได้ และบังเกิดผลในการโน้มนำผู้คนให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาที่เข้ามาร่วมปฏิบัติธรรม เห็นผลปรากฏแล้วในประเทศต่างๆ เช่น มองโกเลีย, อินเดีย, เนปาล, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ทวายและเชียงตุงในเมียนมาร์ เป็นต้น

บวชพระ เดินธุดงค์ อบรมศีลธรรม

การดำเนินกิจกรรมสร้างวัด สร้างพระ และสร้างคนดี โดยวัดพระธรรมกายในช่วง 30 ปีแรกนั้น มุ่งบ่มเพาะและสร้างรากฐานความมั่นคงของกิจกรรมและโครงการต่างๆ ภายในวัดพระธรรมกายเป็นหลัก หลังจากนั้นก็ได้เริ่มขยับขยายออกมาเผยแผ่กิจกรรมสู่ชุมชนและสังคมภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ ได้แก่ โครงการบวชพระแสนรูปทั่วประเทศ, โครงการเด็กดีวีสตาร์ 1 ล้านคน, โครงการตักบาตรพระ 2 ล้านรูปทั่วไทย และโครงการธุดงค์ธรรมชัย ที่เดินธุดงค์ทั้งในป่า ในต่างจังหวัด และในเมือง

ถ้าจะกล่าวไปแล้ว เป็นเสมือนการนำของเก่าอันล้ำค่ามาเป่าฝุ่นใหม่ เพราะโครงการเหล่านี้ล้วนเกี่ยวเนื่องกับพุทธประเพณี ดังจะเห็นได้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลที่มีการบวชกุลบุตรเข้ามาสู่ในบวรพระพุทธศาสนา หรือการเทศน์สอนคนทุกเพศทุกวัยให้เข้าถึงธรรม รวมทั้งการที่พระจาริกไปผ่านป่า ผ่านบ้าน ผ่านเมือง เพื่อเผยแผ่ธรรมะ พุทธประเพณีถือเป็น “อกาลิโก” คือ ไม่ขึ้นกับกาลเวลา สามารถปฏิบัติได้ตลอดกาลนิรันดร์ การสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยการร่วมเผยแผ่คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แพร่ขยายออกไป ย่อมเป็นคุณและกุศลต่อมวลมนุษยชาติ

บวชพระแสนรูปทั่วไทย

พระพุทธศาสนาจะคงอยู่และเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ ต้องอาศัยพุทธบุตรร่วมสืบทอดและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แต่ท่ามกลางสภาพการณ์ปัจจุบัน ที่ประเทศไทยมีวัดร้างถึง 5,937 วัด (จากตัวเลขทางสถิติที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำรวจ ณ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552) สาเหตุสำคัญ เกิดจากจำนวนคนบวชมีน้อยลง การบวชระยะสั้นเพียง 3 วัน 5 วัน ผู้บวชก็ไม่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมอย่างจริงจังและลึกซึ้ง ทำให้น้อยคนที่จะเห็นคุณค่าที่แท้จริงของการบวช ประกอบกับหน่วยงานต่างๆในภาคเอกชนไม่ได้เปิดโอกาสให้ชายไทยลาบวชได้ 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา ทำให้ผู้ที่จะมาร่วมสืบทอดเผยแผ่คำสอนในบวรพุทธศาสนาด้วยการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์มีน้อย ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง

ดังนั้น เพื่อสร้างพุทธบุตรรุ่นใหม่ๆขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา วัดพระธรรมกายจึงจัดโครงการอุปสมบทหมู่ 7,000 รูป 7,000 ตำบลทั่วไทย ในปี พ.ศ.2552 ปรากฏว่ามีผู้สนใจบวชกว่า 10,000 คน ทางวัดจึงเดินหน้าจัดหลักสูตรการอบรมที่เหมาะสมและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบวชให้แก่ผู้สนใจซึ่งยังมีอีกมาก ต่อมาในปี พ.ศ.2553 จึงได้เริ่มโครงการอุปสมบท 1 แสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงฤดูร้อนและช่วงเข้าพรรษา จากการดำเนินการมาก็มีผู้สนใจบวชอย่างต่อเนื่องทุกปี และเมื่อจบโครงการมีผู้มีกุศลจิตศรัทธาบวชอยู่ต่อเป็นจำนวนมาก และกระจายอยู่ในวัดต่างๆในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง ส่งผลให้ปัญหาวัดร้างลดลง ล่าสุดจากการสำรวจโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557 พบว่ามีวัดร้างลดลงเหลืออยู่ราว 4,000 แห่งเท่านั้น (http://www.thairath.co.th/content/464816)

เด็กดีวีสตาร์

V-star เด็กดีต้องมี UG5

โครงการเด็กดีวีสตาร์ (V-Star: The Virtuous Star) “ดาวแห่งความดี ผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก” เป็นอีกโครงการสร้างคนให้เป็นคนดี มุ่งสร้างต้นแบบด้านศีลธรรมให้แก่เยาวชนทั่วทั้งโลก โดยเริ่มจากเยาวชนในประเทศที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการและปฏิบัติความดีสากล 5 ประการ ทั้งที่บ้าน วัดในชุนชน และที่โรงเรียน ภาพที่ปรากฏแม้จะดูเรียบง่าย แต่ผลที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่ การที่เด็กๆช่วยพ่อแม่ทำความสะอาดบ้าน โรงเรียน และวัดในชุมชน, จัดห้องเรียน โต๊ะเรียน รองเท้าเป็นระเบียบ, แต่งกายและพูดจาสุภาพเรียบร้อย, ทำกิจกรรมทั้งส่วนบุคคลและทำงานกลุ่มอย่างตรงต่อเวลา, มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น และมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ฯลฯ เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อคุณภาพที่ดีของทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการดำเนินไปตามหลักพัฒนาศีลธรรมเยาวชน ผ่าน ‘บวร’ คือ บ้าน วัด โรงเรียน และแต่ละปีจะมีการจัดกิจกรรมให้เด็กดีวีสตาร์มาพบปะเจอกันเพื่อเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันในการทำความดี โดยมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นแบบศีลธรรม ได้มาศึกษาพุทธประวัติและพุทธจริยาผ่านภาพยนตร์ 3 มิติ และนิทรรศการ 5 มิติ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จัดขึ้นให้เยาวชนหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมมากขึ้นอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย

ธุดงค์ธรรมชัย ธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูศีลธรรมโลก

ธุดงค์ธรรมชัยในป่าและในเมือง

พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อชุมชนไม่เข้าวัด ก็เอาวัดเข้าไปหาชุมชน” นี่เองที่เป็นที่มาของโครงการธุดงค์ธรรมชัยที่พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) มีดำริให้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น

คำว่า “เดินธุดงค์” ซึ่งหมายถึงการเดินเพื่อไปปฏิบัติธุดงค์นั้น แท้จริงแล้ว ในหลักธุดงค์ 13 ข้อ ไม่มีกล่าวถึงการเดินเลย แต่หมายความถึงให้สงฆ์ปฏิบัติเข้มงวดกับตนเองใน 3 หมวด ได้แก่ การใช้เครื่องนุ่งห่ม (เช่น ใช้ผ้าเพียง 3 ผืน, ใช้ผ้าห่อศพ) การขบฉันภัตตาหาร (เช่น ฉันมื้อเดียว, ฉันเฉพาะจากบิณฑบาตเท่านั้น) และสถานที่พัก (เช่น อยู่ป่าช้า, อยู่โคนไม้) สำหรับธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกายนั้น พระถือปฏิบัติ 2 ข้อ คือ ฉันมื้อเดียว และพักในสถานที่ที่จัดไว้ให้ ส่วนการเดินเป็นกลุ่มใหญ่ก็เพื่อฝึกความอดทน ความตรงต่อเวลา ความเป็นระเบียบ และเพื่อเผยแผ่ธรรมะไปยังที่ต่างๆ เมื่อพระที่บวชโครงการแสนรูปใกล้จบการอบรม มีหลักสูตรเดินธุดงค์เดินเข้าไปในป่าเพื่อฝึกตน เดินเข้าไปในตัวเมืองเพื่อโปรดญาติโยมในจังหวัดและอำเภอที่ได้บวช รวมทั้งเพื่อไปพัฒนาวัดร้างให้มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ธรรมทายาทอยากบวชอยู่ต่อเป็นกำลังพระศาสนา พัฒนาวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง

การเดินธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกาย จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้งใน ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี สำหรับปี พ.ศ.2558 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 4 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 28 มกราคม ใช้ชื่อว่า “ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร” เป็นเส้นทาง 6 แห่งในชีวประวัติที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้แก่ บ้านเกิดที่อำเภอสองพี่น้อง, วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี สถานที่อุปสมบท, วัดโบสถ์ (บน) ตำบลบางคูเวียง จังหวัดนนทุบรี สถานที่บรรลุธรรมกาย, วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สถานที่สอนธรรมะครั้งแรก, วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สถานที่ปักหลักทำสมาธิขั้นสูง, และวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี สถานที่เผยแผ่ธรรมะไปทั่วโลก

การยึดถือเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็เพื่อให้พระที่มาปฏิบัติธุดงค์ ได้มีบุคคลที่อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกัน เป็นบุคคลต้นแบบ หลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านตั้งใจปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุธรรมกาย เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระลูก พระหลาน เห็นแล้วย่อมเกิดแรงบันดาลใจ อยากบวชต่อ และตั้งใจปฏิบัติให้บรรลุธรรมเช่นเดียวกับหลวงปู่ ส่วนการใช้เส้นทางเดินธุดงค์ในเมือง 6 จังหวัด เป็นการเผยแผ่ธรรมะเชิงรุกอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อโปรดญาติโยมให้ได้บุญ เห็นพระธุดงค์แล้วเกิดแรงบันดาลใจในการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา การได้ออกมาต้อนรับบูชาพระที่เดินธุดงค์มาถึงย่านเคหสถานบ้านเรือนหรือร้านค้าเป็นเสมือนพระมาโปรด เป็นมงคลที่น่าปลื้มปีติยินดี ทั้งยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้สาธุชนจำนวนมากตั้งใจมั่นที่จะสวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นประจำไปจนตลอดชีวิต

ท่ามกลางภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น การคอร์รัปชั่น วัยรุ่นตีกัน เด็กท้องในวัยเรียน ฯลฯ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะผู้คนห่างไกลศีลธรรม ศีลธรรมมิได้เสื่อม แต่คนต่างหากที่เสื่อมจากศีลธรรม วัดพระธรรมกายเป็นอีกวัดหนึ่งที่เข้ามาพลิกฟื้นคืนศีลธรรมแก่โลก ให้เยาวชนและคนทั่วไปได้ใกล้ชิดพระศาสนา แม้จะมีรูปแบบที่อาจดูแปลกตาและแตกต่างจากจารีตดั้งเดิม แต่ก็ถือเป็นการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพระธรรมวินัยแห่งพระพุทธองค์ การมองด้วยจิตเมตตาพิจารณาให้เห็นถึงเป้าหมายที่จะสร้างสังคมแห่งความผาสุกและสามัคคีปรองดอง ผู้คนประพฤติธรรมตามรอยบาทพระพุทธองค์ ย่อมจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้พระพุทธศาสนายืนยงคงอยู่คู่กับคนไทยที่อยู่ในศีลในธรรมไปตราบชั่วกาลนาน

บทความที่เกี่ยวข้อง