พิธีทอดกฐิน :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

พิธีทอดกฐิน

พิธีทอดกฐิน

การทอดกฐิน เป็นวัฒนธรรมชาวพุทธที่ปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 2500 ปี บังเกิดขึ้นด้วยเหตุที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่าพระภิกษุสงฆ์มีความลำบากในการหาผ้าจีวร จึงทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ให้พระภิกษุรับผ้ากฐินได้เมื่ออยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน โดยผู้ถวายภายในกำหนด 1 เดือนนับตั้งแต่วันออกพรรษา ซึ่งวัดที่จะรับผ้ากฐินได้นั้นจะต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 4 รูป ในแต่ละวัดจะสามารถรับผ้ากฐินได้เพียงละปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ประการสำคัญคือ คณะสงฆ์จะต้องทำพิธีกรานกฐินให้แล้วเสร็จภายในวันที่รับผ้ากฐินนั้นด้วย และก่อนที่พระภิกษุสงฆ์จะนำผ้ากฐินหรือผ้าจีวรใหม่มานุ่งห่มนั้น ท่านต้องพิจารณาผ้าจีวร โดยอธิษฐานให้เป็นผ้าครองเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้

ผ้าจีวรนั้นมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ ประดุจธงชัยของพระอรหันต์ พระภิกษุสงฆ์จึงให้ดูแลการรักษาเป็นอย่างดี ในอดีตกาลเมื่อผ้าจีวรถูกใช้จนเก่าลง ท่านก็จะนำผ้าจีวรเก่าไปทำเป็นผ้าดาดเพดาน แล้วนำผ้าดาดเพดานผืนเก่ามาทำผ้าปูฟูกหรือผ้าปูที่นอนเก่ามาทำเป็นผ้าปูพื้น นำผ้าปูพื้นเก่ามาทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ต่อจากนั้นก็จะนำผ้าเช็ดเท้าเก่ามาทำเป็นผ้าเช็ดธุลี สุดท้ายก็จะนำผ้าเช็ดธุลีเก่ามาโขลกเป็นชิ้นๆ ขยำกับโคลนฉาบทาฝากุฏิเพื่อความแข็งแรง กันลม กันฝน กันแมลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แม้ในปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ก็ยังคงตระหนักในความสำคัญของผ้าจีวรที่สาธุชนนำมาทอดถวายเป็นอย่างมาก ท่านจึงบรรจงใช้จีวรทุกผืนให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

กฐินทาน จึงเป็นบุญใหญ่ที่มีอานิสงส์มาก พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัยจึงควรทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ในการทำบุญทอดกฐิน ทั้งทำด้วยตนเองและชักชวนหมู่ญาติอันเป็นที่รักมาร่วมบุญกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อเข้าถึงความเป็นเลิศ ทั้งมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติโดยทั่วกัน

ความหมายของคำว่า "ทอดกฐิน"

คำว่า "กฐิน" แปลว่าสะดึง คือไม้สำหรับขึงผ้าให้ตึง เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการตัดเย็บ สะดึงมีรูปทรงทั้งแบบสี่เหลี่ยมและวงกลม ส่วนคำว่า " ทอด " เป็นคำกริยา หมายถึงการวาง การพาด เป็นต้น

การทอดกฐิน คือ การน้อมนำผ้าจีวรถวายแด่คณะสงฆ์ เทศกาลทอดกฐินจึงเสมือนเป็นฤดูกาลเปลี่ยนผ้าจีวรใหม่ของพระภิกษุสงฆ์นั่นเอง

ผ้าไตรจีวร

เดิมที่ผ้าจีวรที่พระภิกษุหาได้นั้นจะต้องเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ หรือผ้าทิ้งแล้ว เช่น ผ้าห่อศพในป่าช้า ผ้าตามกองขยะ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ถูกโจรขโมย เพราะในสมัยนั้นผ้าเก่าขาดปุปะ ถือเป็นผ้าเสนียดที่ไม่มีใครอยากได้ ต่อมาภายหลังหมอชีวกโกมารภัจ เป็นว่า พระภิกษุมีความยากลำบากในการหาผ้า จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมพุทธานุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงอนุญาตให้คหบดีถวายผ้าแด่พระภิกษุได้

สำหรับรูปบบของจีวรที่ดำรงสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้นั้น เกิดจากพุทธดำริของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงชี้ให้พระอานนท์ทอดพระเนตรคันนาของชาวมคธ โดยมีพระประสงค์ที่จะให้พระอานนท์ทรงออกแบบตัดเย็บจีวร ด้วยการนำเศษผ้ามาเย็บต่อๆกันเป็นขันธ์คล้ายคันนา เพื่อทำให้ผ้ามีตำหนิจะได้ไม่เป็นที่ต้องการแก่คนทั่วไป

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้จีวรมี 5 ขันธ์ขึ้นไป แนวตั้งเรียกว่า " มณฑล " ส่วนขันธ์ย่อยเรียกว่า อัฑฒมณฑล แปลว่าครึ่งหนึ่ง ในสมัยนั้นพระภิกษุต้องตัดเย็บจีวรกันเอง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก วัสดุที่ทรงอนุญาตใให้นำมาทำจีวรได้คือ 1.รากไม้ 2.ต้นไม้ 3.ใบไม้ 4.ดอกไม้ 5.เปลือกไม้ 6.ผลไม้

เมื่อนำวัสดุที่หาได้มาเย็บติดกันแล้วจึงทำการย้อม โดยสีที่นิยมใช้คือ สีเหลืองเจือแดง สีเหลืองหม่น สีที่ทรงห้ามใช้คือ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็ฯ สีแสด สีชมพู สีดำ ปัจจุบันที่วัดพระธรรมกายของเราใช้อยู่คือ สีเหลืองเจือแดง

ประวัติการรับผ้ากฐินและอานิสงส์

เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสร็จประทับ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ในครั้งนั้นมีพระภิกษุชาวเมืองชาวปาไฐยรัฐจำนวน 30 รูป ออกเดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังไม่ทันจะถึงวัดพระเชตวัน ก็เป็นเวลาเข้าพรรษาพอดี จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกต พระภิกษุเหล่านั้นล้วนมีใจระลึกถึงพระพุทธองค์ ต่างพากันปรารภในใจว่า " พวกเราแม้อยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีเพียง 6 โยชน์ ก็ยังไม่สามารถเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ได้ "

ครั้นร่วม 3 เดือน พระภิกษุเหล่านั้นจึงได้กระทำปวารณาในวันมหาปวารณา ในเวลานั้นแม้จะออกพรรษาแล้ว ฝนก็ยังตกอยู่ พื้นดินจึงชุ่มไปด้วยน้ำและโคลน เหล่าพระภิกษุต่างมุ่งหน้าออกเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กว่าจะถึงวัดพระเชตวัน เนื้อตัวและจีวรก็เปรอะเปื้อนและเก่าขาด ได้รับความลำบากยิ่งนัก

ครั้นเมื่อได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ด้วยจีวรที่เปียกชุ่ม พระพุทธองค์ทรงตรัสถามถึงความเป็นอยู่และสุขภาพร่างกาย เหล่าพระภิกษุต่างกราบทูลว่า " พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ยังมีความพร้อมเพรียงกัน ไม่วิวาทกัน จำพรรษาด้วยความผาสุข และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตร " เมื่อพระพุทธองค์ทรงแลเห็นจีวรที่ขาดวิ่นของพระภิกษุ จึงทรงมีพุทธานุญาตให้รับผ้ากฐินได้หลังออกพรรษาทรงอนุญาติให้พระภิกษุที่กรานกฐินแล้ว ได้อานิสงส์ 5 ประการคือ

  1. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา
  2. ไม่ต้องถือไตรจีวรครบสำรับ
  3. ฉันคณะโพชนะได้
  4. ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
  5. จีวรที่เกิดขึ้น ณ ที่นั้นจะได้แก่พวกเธอ

อานิสงส์การถวายผ้าไตรจีวร

  • ฝ่ายชายจะได้บวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา นับเป็นการบวชที่สูงส่งในสมัยพุทธกาล เพราะได้รับประธานการบวชจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง บุคคลที่สั่งสมบุญบารมีมาอย่างดีแล้ว จึงได้รับการบวชเช่นนี้ ในขณะที่บวช หากอุบาสกผู้นั้นบรรลุธรรมเข้าถึงพระธรรมกายโสดาบัน แต่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ได้เคยถวายบาตรและจีวรมาในอดีต เมื่อได้รับประธานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาแล้ว จีวรทิพย์ที่สำเร็จด้วยบุญญาฤทธิ์จึงบังเกิดขึ้นในวงแขนทันที จึงค่อยปลงผมและนุ่งห่มจีวร

ส่วนอุบาสกผู้สำเร็จอรหัตตผล สั่งสมบุญจากการถวายบาตรและจีวรมามาก เมื่อได้รับประธานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

แล้ว อานุภาพแห่งบุญจึงบังเกิดองค์พระขนาดหน้าตักใหญ่ 20 วา เปล่งรัศมีเจิดจ้า สว่างไสวครอบคลุมร่างของผู้บวชนั้นไว้ เส้นผมบนศีรษะกร้อนสั้นลงแล้วก็ กลายจากคฤหัสถ์เป็นสมณะเพศ ครองจีวรและสะพายบาตรอันเป็นทิพย์ ซึ่งสำเร็จด้วยบุญญาฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ทันที

  • ฝ่ายหญิงจะได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์

ในสมัยพุทธกาลเครื่องประดับสตรีที่สูงค่าที่สุดคือ " เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ " ทำจากรัตนชาติมีมูลค่าสูงมากถึง 9 โกฏิ ค่าจ้าง 1 แสนกหาปณะประกอบด้วยเพชร 4 ทะนาน, แก้วมุกดา 11 ทะนาน, แก้วประพาฬ 20 ทะนาน, แก้วมณี 33 ทะนาน, รวมทั้งเงินและทองคำ แม้เส้นด้ายก็ทำจากเงินและยังมีแหวนรูปนกยูงที่มือทั้ง 2 ข้าง มีต่างหู สร้อยคอ ปลอกรัดต้นแขน เข็มขัด และรองเท้า ที่ศีรษะมีนกยูงรำแพน รูปทรงคล้ายนกยูงยืนอยู่บนเนินเขามีขนปีกทำด้วยทอง 4 ข้าง ๆ ละ 250 รวมเป็นทอง 1000 เส้น จงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตา คอ และแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนและขาทำด้วยเงิน เวลาเดินกระทบเสียงของก้านปีก ไพเราะประดุจเสียงทิพย์ดนตรี

เครื่องประดับนี้เมื่อสวมศีรษะแล้วจะจรดหลังเท้าพอดี สตรีที่สามารถสวมเครื่องประดับนี้ได้ จะต้องมีกำลังมากถึง 5 ช้างสาร เพราะ เป็นเครื่องประดับที่มีน้ำหนักมาก ในพระไตรปิฎกได้บันทึกไว้ว่า มีสตรีเพียง 3 ท่านเท่านั้น ที่มีบุญได้ครอบครองเครื่องประดับมหาลดาปสาทน์ คือ มหาอุบาสิกาวิสาขา บุตรสาวเศรษฐี และนางมัลลิกา ภรรยาของท่านพันธุละ เสนาบดี

ในตำราธรรมบท บอกไว้ว่าบิดาของนางวิสาขาจ้างช่างทองถึง 500 คน และใช้เวลานานถึง 4 เดือน เพื่อทำเครื่องประดับมหาลดาปสาทน์นี้

บุพกรรมที่ทำให้นางวิสาขาได้เครื่องประดับ คือ ในอดีตชาตินางได้เคยถวายจีวรพร้อมด้าย เข็ม และเครื่องย้อม แก่พระภิกษุมากถึง 20,000 รูป ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยอานิสงส์ดังกล่าว จึงไม่เพียงทำให้นาง ได้ลักษณะเบญจกัลยาณีเท่านั้น หากยังพรั่งพร้อมด้วยเครื่องประดับล้ำค่าดังกล่าวอีกด้วย

นายติณบาลผู้มีทรัพย์น้อยแต่หัวใจเกินร้อยได้ร่วมบุญกฐิน

ในสมัยของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชายยากจนเข็ญใจผู้หนึ่ง เขาจนแม้กระทั่งไม่มีชื่อจะเรียก ได้อาศัยรับใช้เกี่ยวหญ้าอยู่กับเศรษฐี เศรษฐีจึงตั้งใช้ให้ว่า "นายติณบาล"

วันหนึ่งเศรษฐีต้องการทำบุญกฐิน จึงแจ้งข่าวให้บริวารได้ร่วมบุญ เมื่อนายติณบาลทราบก็เกิดศรัทธาอยากร่วมบุญกฐินกับท่านเศรษฐีด้วย เขารีบกลับไปสำรวจจดูทรัพย์สิ่งของที่บ้านว่า มีอะไรที่พอจะทำทานบ้าง แต่ก็ว่างเปล่า จึงตัดสินใจถอดเสื้อผ้าแล้วนำใบไม้มาเย็บติดกันนุ่งห่มแทน มุ้งหน้าเดินไปตลาดเพื่อนำเสื้อผ้าไปขาย แม้ในระหว่างทางจะถูกผู้คนหัวเราะเยาะ ล้อเลียนอย่างขบขัน เขาก็ไม่สะทกสะท้าน กลับตอบไปว่า " เราจะนุ่งใบไม้เป็นชาติสุดท้ายภพชาติต่อไปเราจะนุ่งแต่ผ้าทิพย์ "

เขาขายเสื้อผ้าให้พ่อค้าคนหนึ่งได้เงินมา 5 มาสก จึงปรึกษาท่านเศรษฐีว่า จะนำเงินนี้ทำอะไรดี เศรษฐีแนะนำให้ซื้อเข็มกับด้วย มาร่วมเป็นบริวารกฐิน เขาปิติใจมากที่มีโอกาสได้ร่วมบุญกับท่านเศรษฐี

เหตุการณ์นี้ร้อนถึงทิพยอาสน์ของท้าวสักกะเทวราช บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อส่องทิพย์เนตรดู เห็นการกระทำที่เกิดขึ้นได้ยากของนายติณบาล จึงมีศรัทธาเลื่อมใส มาปรากฎกายที่หน้าบ้านของนายติณบาล ท้าวสักกะเทวราชกล่าวสรรเสริญการกระทำของนายติณบาลแล้ว ก็ให้เขาขอพรได้ 4 ประการ เขาจึงขอพรว่า " ขออย่าให้กระผมได้ข่มเหงสตรีทั้งด้วยกาย วาจา ใจ ขออย่ามีความตระหนี่ในการทำทาน ขออย่าได้มีคนพาล ขอให้ได้ภรรยาดีมีศีลธรรม "

เมื่อท้าวสักกะเทวราชได้ฟังพรของนายติณบาลแล้ว ก็เกิดความสงสัยว่า เหตุใดคนยากจนเช่นเขา จึงไม่ขอพรให้ตนมีทรัพย์สมบัติมากๆ เขาตอบว่า " การได้เป็นคนดี มีคนรอบข้างเป็นคนดีก็นับว่ามีทรัพย์อันประเสริฐแล้ว " เมื่อท้าวสักกะเทวราชได้ฟังดังนั้น จึงอนุโมทนาและบันดาลให้พรทั้ง 4 ประการนั้นสำเร็จ

ข่าวการทำทานของนายติณบาลทราบถึงพระราชา จึงมีรับสั่งให้เรียกตัวเขามาตรัสถาม ทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว พระราชาจึงทรงขอแบ่งบุญจากเขา และพระราชฐานทรัพย์ให้ พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งเขาให้เป็นเศรษฐีในวันนั้นเอง

ในวันที่นายติณบาลใกล้จะละโลก เขาระลึกถึงบุญอันยิ่งใหญ่ที่ทำได้ยากนี้ โดยเฉพาะเป็นบุญกฐินที่ทอดถวายแด่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า คตินิมิตจึงใสสว่าง เมื่อละโลกแล้ว เหล่าบริวารเข้าแถวมารอรับอัญเชิญเทพบุตรใหม่ขึ้นเทวรถ เพื่อกลับทิพยวิมานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพยสมบัติอันตระการ มาจนถึงภพชาติสุดท้าย ได้เกิดเป็นชายในสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ เขาออกบวชในพระพุทธศาสนา และบรรลุอรหัตตผลในที่สุด ด้วยอำนาจบุญที่ได้กระทำมาดีแล้วนี้เอง

อานิสงส์ของกฐิน

"กฐินทาน "เป็นบุญพิเศษที่บังเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกจำกัดด้วยกาลเวลาจึงมีอานิสงส์ใหญ่ดังนี้คือ

  1. ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สมบัติมาก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
  2. ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ
  3. ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
  4. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
  5. ทำให้เป็นผู้มีรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป
  6. ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณน่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ
  7. ทำให้บุคคลผู้นั้นแม้ตายแล้วก็ได้ไปเกิดในโลกสวรรค์

ฯลฯ

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้