กำหนดการวันวิสาขบูชา พ.ศ.2556 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

กำหนดการวันวิสาขบูชา พ.ศ.2556

กำหนดการวันวิสาขบูชา พ.ศ.2556

English language

3 วาระสำคัญในวันวิสาขปุรณมี

คำว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ด้วยเหตุนี้ "วิสาขบูชา" จึงหมายถึง "การบูชาในวันเพ็ญเดือน 6" หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งวันนี้ในอดีตกาลก่อนพุทธศักราช มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 วาระ โดยวาระแรกตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 อันเป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ถือเป็นวาระสำคัญแห่งการบังเกิดขึ้นของพระมหาบุรุษผู้เป็นศาสดาเอกของโลก เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีลักษณะที่สง่างามตามลักษณะของมหาบุรุษ ครบถ้วนทั้ง 32 ประการ เมื่อทรงเจริญวัย พระชนมายุครบ 16 พรรษา ได้เรียนจบวิชาการทั้งหมด 18 สาขา อาทิ วิชาคณิตศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, การทหาร, รัฐศาสตร์, อักษรศาสตร์, ศิลปศาสตร์และชำนาญการใช้อาวุธทุกประเภทในสมัยนั้น เป็นต้น

พระเจ้าสุทโธทนะได้พระราชทานของขวัญเป็นปราสาทพร้อมพรั่งทั้งสวนและสระ 3 หลัง คือ ปราสาทสำหรับฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว ให้แก่เจ้าชายสิทธัตถะ โดยปราสาทแต่ละหลัง จะมีแต่สาวงามนับหมื่นนางคอยถวายการปรนนิบัติรับใช้ โดยไม่มีบุรุษเลย ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะทรงหวังที่จะผูกพันพระโอรสไว้กับความสุขทางโลก แต่ทว่า สิ่งเหล่านี้มิอาจเหนี่ยวรั้งเจ้าชายสิทธัตถะเอาไว้ได้ ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 29 พรรษา ทรงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะค้นหาหนทางหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย จึงตัดสินพระทัยสละความสุขทางโลกออกบวชในเพศบรรพชิต

พระมหาบุรุษได้ทรงบำเพ็ญเพียร ดำเนินทางสายกลางภายใน จนกระทั่งทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาน หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุครบ 35 พรรษา ในคืนวันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ถือเป็นวาระสำคัญในการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดระยะเวลาหลังจากตรัสรู้ 45 ปี ทรงปฏิบัติพุทธกิจทั้งเทศนาสั่งสอนพระภิกษุสงฆ์ ตลอดไปจนถึงประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่เปี่ยมล้นไม่มีประมาณ ไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ที่ใด จะเป็นใคร พระพุทธองค์ก็จะเสด็จไปโปรดเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงความสุขอันแท้จริง หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะเช่นเดียวกับพระองค์

ดังที่ทราบกันดีว่า ชีวิตของเราทุกคนไม่เที่ยง มีแก่ มีเจ็บ และต้องตายด้วยกันทั้งนั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เช่นกัน ทรงตรัสปัจฉิมโอวาทแก่บรรดาพระสาวกไว้ว่า “สังขารร่างกายของเราไม่เที่ยง มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ถือเป็นวาระสำคัญแห่งการจากไปของผู้เป็นดั่งดวงประทีปของโลก

ด้วยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทรงเป็นศาสดาเอกผู้ค้นพบสัจธรรมมากมาย รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ ทรงให้แนวทางการปฏิบัติตนไปสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ ทรงเป็นผู้ชี้หนทางสู่บรมสุข คือ พระนิพพาน ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 ทางองค์การสหประชาชาติจึงได้มีมติกำหนดให้ “วันวิสาขบูชา” เป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยระบุว่า “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก”

วันวิสาขบูชาปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ขอเชิญชวนผู้มีบุญทุกท่าน ร่วมงานบุญในวันวิสาขบูชา... ตักบาตรพระ, ปฏิบัติธรรม, พิธีอุปสมบทอุทิศชีวิต, พิธีจุดวิสาขประทีปและเวียนประทักษิณรอบมหารัตนวิหารคด ณ วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี เพื่อร่วมกันตรึกระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณและพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องในวันวิสาขปุรณมี

 

กำหนดการวันวิสาขบูชา

พิธีภาคเช้า

06.00 น. พิธีตักบาตร ณ บริเวณบ้านแก้วเรือนทองของคุณยายฯ
09.30 น. ปฏิบัติธรรม
11.00 น. พิธีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน
11.15 น. เสร็จพิธี

พิธีภาคบ่าย

ณ สภาธรรมกายสากล

13.30 น. ปฏิบัติธรรม, พิธีรับถวายปัจจัย
14.30 น. เสร็จพิธี

 

ณ พระอุโบสถวัดพระธรรมกาย

14.00 น. พิธีถวายผ้าไตรและบาตรแด่สามเณรอุปสมบทอุทิศชีวิต
14.30 น. พิธีอุปสมบทอุทิศชีวิต ณ พระอุโบสถวัดพระธรรมกาย
15.45 น. เสร็จพิธี

 

  • สาธุชนร่วมพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิต ผ่านจอโทรทัศน์วงจรปิด ภายในสภาธรรมกายสากล

พิธีภาคค่ำ

17.45 น. พิธีจุดวิสาขประทีป และเวียนประทักษิณรอบมหารัตนวิหารคด
19.45 น. เสร็จพิธีภาคค่ำ

 

  • กรุณาแต่งกายด้วยชุดขาว เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธ

บทความที่เกี่ยวข้อง: วันวิสาขบูชา

บทความอื่นๆในหมวดนี้