คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
ครูผู้สืบสานวิชชาธรรมกาย
หากเข้ามาที่วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ทางเข้าด้านหน้าโบสถ์สีขาวสะอาด แล้วผ่านไปทางด้านหลังของโบสถ์จะเห็นอาคารรูปทรงภูเขาทองฐานแปดเหลี่ยม อยู่บนแผ่นดินที่ยื่นออกมา ซึ่งมีผืนน้ำโอบล้อม อาคารนี้ชื่อว่า มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย
“คุณยาย” เป็นคำขานที่ศิษยานุศิษย์เรียก คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เนื่องด้วยท่านเป็นครูผู้มีเมตตาธรรมสูง และให้ความรักเสมือนหนึ่งญาติผู้ใหญ่ของศิษย์ ท่านเป็นผู้ที่น่าเข้าใกล้ เป็นสตรีที่มีรูปร่างบอบบาง แต่เข้มแข็ง สุขภาพแข็งแรง ยืน เดิน นั่ง ด้วยบุคลิกภาพที่มั่นคง หลังไหล่ตรงแม้จะสูงวัยขึ้นมากก็ตาม ท่านกระฉับกระเฉง แคล่วคล่อง ว่องไว มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มักน้อยสันโดษ เรียบง่าย แต่หากสังเกตเห็นดวงตาของคุณยาย บอกให้รู้ว่ามีแววแห่งความเด็ดเดี่ยว สงบ สดใส บริสุทธิ์ ราวกับจะสะท้อนถึงคุณธรรมภายในของท่าน
เมื่ออายุ 29 ปี คุณยายได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยบวชเป็นอุบาสิกา (แม่ชี) ประจำอยู่ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งแต่วัยเด็ก ท่านมีอุปนิสัยในเรื่องความขยันขันแข็ง อดทนสู้งาน มีความเด็ดเดี่ยว มักน้อยสันโดษ ประหยัด อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่นินทาว่าร้ายใคร รักการประพฤติพรหมจรรย์ รักบุญกลัวบาป และรักการปฏิบัติธรรม ท่านฝึกฝนตนเองได้ดี ทำอะไรทำจริง พูดน้อย พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ตั้งใจศึกษาวิชชาธรรมกาย อยู่ในโอวาทของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผลการปฏิบัติธรรมจึงก้าวหน้า แตกฉานเชี่ยวชาญ จนได้รับคำชมจากหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ว่า “ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง”
หลังจากหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มรณภาพแล้ว คุณยายก็ยังคงเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไปตามคำสั่งของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนกระทั่งได้พบกับศิษย์เอกของท่าน นั่นก็คือ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาวิชชาธรรมกายตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว ได้อุปสมบท ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ฉายาว่า “ธัมมชโย”
หลวงพ่อธัมมชโย และคุณยาย ได้ร่วมกันสอนธรรมปฏิบัติวิชชาธรรมกาย จนกระทั่งมีสาธุชนหลั่งไหลกันมามากมาย ล้นสถานที่ปฏิบัติธรรมในบริเวณวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คุณยายจึงได้มีดำริให้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้น บนพื้นที่ที่ได้รับบริจาคในเนื้อที่ 196 ไร่ ด้วยเงินทุนตั้งต้นสำหรับก่อสร้างจำนวนเพียง 3,200 บาทเท่านั้น แต่ด้วยความเป็นผู้ไม่เคยท้อถอย มีกำลังใจเต็มเปี่ยมของคุณยาย ผู้มีอัธยาศัยทำอะไรทำจริง ไม่เหลาะแหละ มีแต่คำว่า “ทำได้ เป็นไปได้ และต้องสำเร็จ” งานสร้างวัดจึงดำเนินต่อไป
หลังจากปีพุทธศักราช 2513 ที่ขุดดินก้อนแรก กระทั่งต่อมามีอาคารถาวรหลังแรก เมื่อพุทธศักราช 2518 สาธุชนหลั่งไหลมาประพฤติปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้นทับทวี จึงต้องสร้างวัดไปสอนธรรมะไป จนกระทั่งสร้างศาสนสถานสำเร็จ ตั้งแต่โบสถ์, สภาธรรมกายสากล ซึ่งเป็นสถานที่ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม, มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี, มหาธรรมกายเจดีย์, มหาวิหารคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ตลอดจนหอฉันคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง
“วัดพระธรรมกาย” เป็นสถานที่ฝึกฝนอบรมตนเอง กล่าวคือ นำธรรมะมาฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนดี ตามมาตรฐานศีลธรรม และมีคุณธรรม เป็นคนดีที่โลกต้องการ การสร้างวัดนั้น คุณยายเริ่มสร้างในขณะที่มีวัยประมาณ 60 ปีแล้ว ซึ่งคนทั่วไปเกษียณอายุกัน แต่คุณยายได้ใช้เวลาในวัยนี้สร้างวัด พร้อมๆกับสร้างคน สร้างทีมงาน และด้วยมโนปณิธานเพื่อจะ “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ สร้างคนให้เป็นคนดี”
คุณยายมักบอกว่า “เราเกิดมา ควรทำประโยชน์สักอย่างหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ตัวเอง ถ้าทำให้ตัวเองได้แล้วยังทำให้คนหมู่มากได้ด้วย ชีวิตนี้เกิดมาก็คุ้มแล้ว” คุณยายไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่คำสอนของท่านล้วนสอดคล้องกับพระธรรมในพระไตรปิฎก ตัวอย่างเช่น ท่านมักสอนว่า “ให้ละบาปอกุศล (ความชั่ว) ให้ทำความดี และทำใจให้ใส” ประโยคเหล่านี้ตรงตามพุทธโอวาทที่ว่า “การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ซึ่งตรงกับในพระไตรปิฎก มก.ที.มหา. เล่ม 10 ข้อ 54 หน้า 41
อีกตัวอย่างหนึ่ง คุณยายสอนไว้ว่า “มนุษย์มีกรรมของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ความทุกข์ในปัจจุบันก็เพราะกรรมไม่ดีในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาที่ผ่านมาในชาตินี้ หรือในอดีตชาติ ฉะนั้นให้ละชั่ว ให้รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด ให้ทำความดี เข้าวัดทำบุญทำทาน ฟังธรรมะ ฟังพระเทศน์ จะได้รู้จักหนทางการสร้างความดีเยอะๆ และทุกวันก็ต้องสวดมนต์ นั่งธรรมะ ทำใจให้ใสสว่าง...” ทั้งนี้ ประโยคข้างต้นของคุณยาย สอดคล้องกับบทธรรมะในพระไตรปิฎก มก.อง.ปญฺจก เล่ม 36 ข้อ 57 หน้า 138 ที่ว่า “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราจักต้องได้รับผลของกรรมนั้น”
คุณยายมีความเป็นครูผู้มีหัวใจกัลยาณมิตร ศิษย์ทุกคนต่างยืนยันได้ว่า ท่านไม่เคยดุด่า ท่านมีแต่คำสั่งสอน มีความเมตตาเสมอหน้า ท่านเป็นครูผู้ทำกิจทุกอย่างด้วยความเป็นธรรมชาติที่ประณีตงดงาม มีขั้นตอนที่มีเหตุผล ทำสิ่งใดมิใช่เลือกปฏิบัติ แต่ขึ้นอยู่กับความถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ
ผู้ที่เข้ามาภายในวัดพระธรรมกาย จะได้รับความประทับใจจากบริเวณพื้นที่ทุกหนแห่งมีความสะอาด มีระบบระเบียบ สิ่งเหล่านี้มาจากคุณยาย เนื่องจากท่านรักความสะอาด จึงวางระเบียบไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักดูแลสมบัติพระศาสนา ท่านจึงปลูกฝังให้ดูแลสมบัติพระศาสนาทุกอย่างให้มีสภาพดี คงทน สะอาด และใช้สอยอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ คุณยายได้ฝึกศิษย์และทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย เช่น การขัดห้องน้ำ การเก็บกวาดเช็ดถูสถานที่ สอนวิธีดูแลครัวให้สะอาด วางภาชนะให้เรียงเป็นแถว ตลอดไปจนถึงวิธีทำความสะอาด เก็บอุปกรณ์ไม้กวาด ผ้าขี้ริ้ว แม้การวางรองเท้า ของทุกอย่างให้จัดเรียบร้อยงามตา สิ่งเหล่านี้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรียกว่า “วัฒนธรรมคุณยาย”
อันที่จริงคำสอนของคุณยายมีมากมายที่มีผู้จดบันทึกไว้ เรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือ สามารถนำมาฝึกฝนประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้ครูผู้สืบสานวิชชาธรรมกายท่านนี้จะละโลกไปแล้วเมื่อพุทธศักราช 2543 แต่ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายยังคงระลึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของท่านเสมอไม่ลืมเลือน คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นครูผู้เลิศ เป็นมหาปูชนียาจารย์ผู้อยู่ในกลางใจของศิษย์ทุกๆคนตลอดกาล และหากศิษย์ทุกคนทำความปรารถนาของท่านให้สำเร็จ ด้วยการปฏิบัติบูชาเข้าถึงพระธรรมกาย ย่อมเป็นสิ่งที่ท่านภูมิใจและดีใจด้วยอย่างแน่นอน
บทความที่เกี่ยวข้อง: