วันธรรมชัย วันแห่งชัยชนะ :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันธรรมชัย วันแห่งชัยชนะ

วันธรรมชัย วันแห่งชัยชนะ

"ทวยเทพผู้สถิต ณ ผาดำเอย ข้าผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ จะขอปักธงรบ อหิงสา ปรโม ธัมโม ขึ้น ณ ที่นี้ ในดวงใจข้า เหนือขุนเขาอันเป็นสิริ ซึ่งเป็นที่สถิตแห่งจอมไท ข้าขอประกาศว่า ข้าจะขอพลีชีพนี้เพื่อพระพุทธศาสนาจะบ่มบารมีให้แก่รอบ จะยกตนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้พ้นจากกองทุกข์ ตราบใดที่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ยังเข้าพระนิพพานไม่หมด ข้าจะอยู่เยี่ยงนี้ เพื่อย่ำธรรมเภรี โปรดสัตว์โลกต่อไป และจะขอเข้านิพพานเป็นคนสุดท้าย ขอสันติสุขจงมีแก่สรรพสัตว์ เทอญ”

ธมฺมชโย ภิกขุ พ.ศ. 2520

 

ถ้อยคำนี้ แสดงถึงมโนปณิธานของหลวงพ่อธัมมชโย ในการที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายข้ามพ้นห้วงวัฎสงสารอันยาวนานและเป็นทุกข์ เข้าสู่พระนิพพานอันเป็นบรมสุข ไม่ให้มีหลงเหลืออยู่เลยแม้ชีวิตเดียว หากยังไม่บรรลุเป้าหมาย ก็จะขอสร้างบารมีต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ จะขอเข้าพระนิพพานเป็นคนสุดท้าย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ศิษยานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายว่า การบรรลุถึงมโนปณิธานนี้ คือ “การมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม”

มโนปณิธานอันยิ่งใหญ่นี้ ได้รับสืบทอดมาจากมหาปูชนียาจารย์ คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย วิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ได้ตั้งความปรารถนาที่จะมุ่งไปให้ถึง “ที่สุดแห่งธรรม” โดยมีการขยายความมโนปณิธานนี้ว่า “เป็นไปเพื่อการรื้อสัตว์ ขนสัตว์ ทั้งภพสามทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร” พญามาร หมายถึง ผู้ซึ่งสอดแทรกกิเลสให้แก่สรรพสัตว์ ทำให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว เกิดเป็นวิบากกรรมที่ต้องชดใช้ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา หลวงพ่อธัมมชโยได้มุ่งมั่นที่จะทำมโนปณิธานที่ตั้งไว้ให้สัมฤทธิ์ผล ด้วยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสั่งสมบุญสร้างบารมี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรมตามแนวทางวิชชาธรรมกาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์ผู้ได้รับบัญชาจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ให้เผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก รวมไปถึงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ผ่านทางโครงการต่างๆมากมาย อาทิ โครงการอุปสมบทหมู่ 100,000 รูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย, โครงการตักบาตรพระ 2 ล้าน รูป 77 จังหวัดทุกวัดทั่วไทย, โครงการกฐินสัมฤทธิ์ และโครงการธุดงค์ธรรมชัย เพื่อพัฒนาวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง เป็นต้น รวมไปถึงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก และการสร้างสันติภาพที่แท้จริงจากสันติสุขภายในซึ่งเกิดจากการทำสมาธิ จนในปัจจุบัน มีสาธุชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนา ให้ความสำคัญต่อการทำดี ละชั่ว ทำใจให้ผ่องใส เป็นจำนวนมาก

หลวงพ่อธัมมชโย มีนามเดิมว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2487 ณ บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี โยมบิดาชื่อ จรรยงค์ สุทธิผล โยมมารดาชื่อ จุรี สุทธิผล ในวัยเด็กมักค้นคว้าหาความรู้ด้านธรรมะ และคำถามที่ติดอยู่ในใจเสมอ คือ “เราเกิดมาทำไม” และ “อะไรคือเป้าหมายชีวิต” จึงได้แสวงหาคำตอบเรื่อยมา ด้วยการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือและตำรับตำราต่างๆ ตลอดจนพยายามแสวงหาครูบาอาจารย์

พ.ศ.2506 ช่วงที่ศึกษาอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กำลังเตรียมสอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย หลวงพ่อธัมมชโยได้อ่านพบหนังสือชื่อ “วิปัสสนาบันเทิงสาร” ลงเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งเป็นหนึ่งในศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกายจากพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จึงได้ไปศึกษาการปฏิบัติธรรมกับแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง หลวงพ่อธัมมชโยรักและเคารพอาจารย์ของท่านมาก มีความสนิทสนมเสมือนญาติผู้ใหญ่ มักจะเรียกอาจารย์ของท่านว่า “คุณยาย”

หลายปีผ่านไป หลวงพ่อธัมมชโย ในเวลานั้น ได้ฝึกสมาธิจนเชี่ยวชาญ มีความก้าวหน้า ได้รู้และได้เห็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และรู้ว่า “สมาธิเท่านั้น ที่จะทำให้มวลมนุษยชาติพ้นจากทุกข์และภัยจากสังสารวัฏ และในที่สุดก็จะพบความสุขที่ยิ่งใหญ่ คือ พระนิพพาน” ต่อมา ในวันคล้ายวันเกิดของคุณยายอาจารย์ฯ ท่านได้มอบของขวัญล้ำค่าด้วยการตั้งสัจจอธิษฐาน ขอประพฤติพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว หลวงพ่อธัมมชโยได้บรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2512 ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมี พระเดชพระคุณพระเทพวรเวที (ปัจจุบัน คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า “ธัมมชโย” แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม” พระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวิเชียรกวี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การบวชอุทิศชีวิตของหลวงพ่อธัมมชโย เป็นวันแห่งชัยชนะของพระผู้เป็นดั่งตะวันธรรม นำความสว่างไสวแก่หมู่ชน แสงสว่างนี้มีทั้งความร่มเย็นและความอบอุ่นใจ ท่านเป็นต้นแบบของการบวชอุทิศชีวิต โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำคุณความดีทุกรูปแบบ ตามอย่างพระโพธิสัตว์ที่ฝึกฝนอบรมบ่มบารมีตนเอง นี้เป็นหนทางตามรอยการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีแห่งความเป็นพระแท้และเป็นยอดกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญอันเป็นภารกิจหนึ่ง คือ ความเป็นครู ที่มีเมตตากรุณาและปรารถนาดีต่อมวลมนุษยชาติ แนะนำ ให้กำลังใจ สนับสนุน ส่งเสริมให้ทำความดี เพื่อให้สันติสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

หลวงพ่อธัมมชโยเป็นผู้มีพลังใจที่เข้มแข็ง ไม่มีท้อไม่มีถอยต่ออุปสรรคใดๆ ท่านยังคงย่ำธรรมเภรีต่อไปด้วยความเบิกบานในการสั่งสมบุญสร้างบารมี เพื่อให้มโนปณิธานที่ตั้งไว้สัมฤทธิ์ผล ดำรงตนเป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่ศิษยานุศิษย์ อีกทั้งยังช่วยปิดประตูอบาย เปิดประตูสรรค์ ให้แก่สาธุชนทั้งหลาย สมดั่งที่ท่านได้เคยกล่าวไว้ ณ ผาดำ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “...ตราบใดที่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ยังเข้าพระนิพพานไม่หมด ข้าจะอยู่เยี่ยงนี้ เพื่อย่ำธรรมเภรี โปรดสัตว์โลกต่อไป และจะขอเข้านิพพานเป็นคนสุดท้าย ขอสันติสุขจงมีแก่สรรพสัตว์ เทอญ”

******************************

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้