วันคุ้มครองโลก 22 เมษายน…วันที่โลกถูกคุ้มครองด้วยธรรม
ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และพบกับภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหลากหลายรูปแบบอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศ ทางน้ำ หรือการทำลายป่าที่ส่งผลให้เกิดวาตภัย อุทกภัย อย่างไม่ทันตั้งตัว จนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ต่อประชากรโลกในหลายๆประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ชาวโลกหันมาสนใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองโลกให้อยู่รอดปลอดภัยจากภัยต่างๆ โดยจุดเริ่มต้นครั้งแรกจากความคิดของวุฒิสมาชิกชาวอเมริกัน Gaylord Nelson ที่ได้รณรงค์ให้ชาวอเมริกันร่วมกันพิทักษ์คุ้มครองโลก และหลายองค์กรได้ให้ความสำคัญกับกระแสของการรณรงค์เพื่อคุ้มครองโลก ให้โลกสงบสุขดังกล่าว ร่วมมือกัน พิทักษ์คุ้มครองโลก โดยมีผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์ในเมืองใหญ่ๆของสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากถึง 20 ล้านคน ดังนั้น วันคุ้มครองโลกจึงถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทุกๆปีจึงได้มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวโลกเกิดจิตสำนึก หันมาดูแลโลกของเรา ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติอันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์
มนุษย์ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรโลกที่มีคุณค่ามากที่สุด เป็นกลไกสำคัญที่สุดของการดำเนินไปโลกใบนี้ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาที่จะนำไปสู่ความสมดุลหรือไม่สมดุลของทุกสรรพสิ่งในโลก มนุษย์เป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย โดยเฉพาะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จากการตัดไม้ทำลายป่า จากการพัฒนาทางด้านวัตถุและเทคโนโลยี การทิ้งของเสียและสารเคมี อันเป็นผลพวงจากกระบวนการอุตสาหกรรมและและเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาอาวุธสงคราม เป็นเหตุให้ ดิน น้ำ อากาศ ฟ้า ถูกปนเปื้อน ด้วยมลพิษ โดยกิจกรรมทั่วไปในวันคุ้มครองโลกจะมุ่งเน้น ดังต่อไปนี้
- เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
- เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซน และก่อให้เกิดการสะสมความร้อน ให้หมดสิ้นไป
- เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบ
- เพื่อห้ามการซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
- เพื่อคงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
- เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่างๆทั่วโลก ให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่นๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
- เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาไว้ทั้งบุคคล ชุมชน ชาติ และโลกใบนี้
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมา จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้ชาวโลกจะพยายามรณรงค์เรื่องนี้มากเพียงใด แต่ก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก การทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไป แถมโลกยังคงร้อนขึ้นทุกๆปี ทรัพยากรณ์ธรรมชาติยังคงถูกทำลายและมีปริมาณลดน้อยลงกว่าเดิม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่สามารถคุ้มครองโลกได้ว่า หากผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมข้อนี้แล้ว ชื่อว่าคุ้มครองโลก ธรรมข้อนั้นเรียกว่า “โลกบาลธรรม” หรือ "ธรรมที่คุ้มครองโลก" ประกอบด้วย 2 อย่าง คือ หิริ และ โอตตัปปะ
- หิริ คือ ความละอายที่จะกระทำชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
- โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวต่อผลของการกระทำชั่วนั้นด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
คำว่า "ชั่ว" นั้น คือ อะไร การกระทำชั่วนั้นก็ได้แก่ การคิด การพูด การกระทำ ที่เป็นการเบียดเบียนให้ตนเองและผู้อื่นทุกข์ร้อนทั้งกายและใจ หรือกระทำการใดๆให้ตนเองและผู้อื่น อันได้แก่ คน สัตว์ สิ่งของ ต้องพินาศไป นี้เรียกว่ากรรมชั่ว "ความละอาย" คือว่า คนเช่นเรานั้นอย่าต้องไปทำให้ใครทุกข์ร้อนเลย หรือเดือดร้อนเลย มีความละอายที่จะทำชั่ว อายตัวเองว่า ถ้าจะขโมยของใคร หรือฆ่าแกงใคร เบียดเบียนใคร ก็ละอายแก่ใจ ใครไม่รู้แต่เรารู้ นี้เรียกว่า ความละอาย ส่วนว่า "ความกลัวต่อผลของกรรมชั่ว" นั้น คือ โอ้...ถ้าหากเราเทสารพิษนี้ลงสู่แม่น้ำลำคลอง แล้วปลาตาย คนที่มาใช้น้ำในแม่น้ำนี้เกิดป่วยแล้วตายลงเข้า ก็กลัวว่าตำรวจเขาจะมาสอบสวน เป็นข้อพิพาท เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือหนักเข้าก็กลัวว่า เดี๋ยวพอตัวตายไปก็ต้องไปอบาย ต้องถูกทำทัณฑ์ทรมานในนรกเข้ายาวนาน กลัว เลยไม่ทำ อย่างนี้เรียก ความกลัวต่อผลของการกระทำชั่ว เป็นต้น หากมนุษย์มีหิริโอตตัปปะอยู่มาก จะทำอะไรก็ใส่ใจทั้งตนเองและผู้อื่นรวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วโลกก็จะสงบร่มเย็นและน่าอยู่ทีเดียว หากมนุษย์จะหยุดคิดและมองถึงต้นตอของปัญหาของโลกอย่างแท้จริงแล้ว จะพบว่าต้นตอทั้งหมดของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกนั้นเกิดขึ้นจากมนุษย์เอง และสิ่งที่ควบคุมความคิด คำพูด และทุกๆการกระทำของมนุษย์ คือ ใจของมนุษย์นั่นเอง ใจที่เร่าร้อนเต็มไปด้วยความทะยานอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกกระแสเหล่านี้ว่า "กระแสกิเลส" ประกอบด้วย ความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่น อยากรวย รวยอยู่แล้วก็อยากรวยเพิ่มขึ้นโดยปราศจากสำนึกรับผิดชอบต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ หรืออยากสบาย เปิดแอร์เยอะๆในหน้าร้อนหรือไม่ร้อน ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย หรือจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือย โดยปราศจากสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นี้คือต้นตอของปัญหา ใจดวงนี้เองที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาทั้งปวง
ดังนั้น หากชาวโลกหันมาแก้ไขปัญหา ที่ต้นเหตุ คือ ใจของมนุษย์ ย่อมนำไปสู่ การแก้ปัญหาและคุ้มครองโลกอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างแน่นอน การแก้ปัญหาของใจที่เต็มไปด้วยกิเลสนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำสมาธิ เจริญภาวนา เพื่อชำระใจให้บริสุทธิ์ สะอาดผ่องใจ ปราศจากมลทิน คือ กิเลส อันได้แก่ ความโลภ โกรธ หลง และความทะยานหยากที่คอยชักใยให้มนุษย์ เกิดความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เบียดเบียน ทั้งตนเองและผู้อื่น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเอง ทำให้ต่างได้รับความทุกข์ร้อนไม่รู้จบสิ้น ดวงใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์นั้นแล จักเป็นดวงใจที่ประกอบด้วย “โลกบาลธรรม” ที่สามารถคุ้มครองโลกได้อย่างดีเยี่ยม สมาธิทำให้ใจบริสุทธิ์ได้อย่างไร อันนี้ต้องลงมือปฏิบัติเอง แล้วจะได้ลิ้มรสของคำว่า “สันติสุขภายใน” ที่เกิดขึ้นจากใจที่หยุดนิ่ง “หยุด” ใจไว้ที่จุดศูนย์กลางกาย หรือจุดศูนย์ถ่วงของกายมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดที่รักษาสมดุลของชีวิต และเป็นแหล่งกำเนิดของพลังงานอันบริสุทธิ์ที่นำมาซึ่งความสุข สดชื่น เบิกบาน และอิ่มเอิบใจ เมื่อใดก็ตามที่นำใจมาหยุดนิ่งอย่างเบาๆ สบายๆ และต่อเนื่อง ที่ศูนย์กลางกายนี้ อย่างน้อย 30 นาที คุณจะได้พบกับความรู้สึกสงบสุข สดชื่น อิ่มเอม และเบิกบานใจอย่างที่ไม่เคยเป็น ในขณะที่คุณมีความรู้สึกนี้อยู่นั้น คุณจะไม่มีอารมณ์ที่จะไปทำร้ายใคร หรือเบียดเบียนใครเลย ทั้ง คน สัตว์ สิ่งของ และเมื่อใดที่เราฝึกใจจนมีความสงบสุขที่ภายในนี้ จนเป็นปกติแล้ว ใจก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความพอดี ความอิ่มเอม ไม่โลภอยากได้ของใคร ไม่คิดจะไปเบียดเบียนใคร ความรู้สึกว่า “พอแล้ว” จะบังเกิดขึ้นภายในใจ จะมีแต่ความรักความปรารถนาดี มีความเมตตาจิตต่อทุกๆสรรพสิ่งรอบตัว หากทุกๆคนในโลกมีความรู้สึกอย่างนี้ปัญหาต่างๆในโลกจะคลี่คลาย โลกจะเย็นลง ปัญหามลพิษต่างๆจะถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ทุกๆคนจะหันมาใส่ใจดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกเป็นดินแดนที่วิเศษสุดแก่การดำเนินชีวิตของทุกๆคน
องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) โดยการนำเสนอของผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย ได้มีมติให้วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก ภายใต้คำขวัญว่า “Clean the World Clean the Mind” เพราะตระหนักดีว่า ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ที่ทรงคุณค่าและทรงพลังที่สุด คือ ใจของมนุษย์ ซึ่งควรจะได้รับ การปกป้อง คุ้มครอง รักษา ให้เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ผ่องใส มูลนิธิธรรมกายและวัดพระธรรมกาย โดยพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการพัฒนาด้านจิตใจด้วยการทำสมาธิ และมีความมุ่งมั่น ที่จะสถาปนาสันติสุขอันไพบูลย์แก่โลกและมวลมนุษย์ชาติด้วยสันติสุขภายในจากการทำสมาธิ และทุกๆปี ในวันคุ้มครองโลก คณะพระภิกษุสงฆ์และเหล่าพุทธศาสนิกชน จากทั่วประเทศไทย นับแสนคน ได้เดินทางมารวมตัวกันเพื่อเจริญสมาธิภาวนา แผ่กระแสแห่งความบริสุทธิ์อันเกิดจากการทำสมาธินี้คุ้มครองโลก ให้โลกสงบสุข ร่มเย็น ตราบนานเท่านาน อีกทั้ง ในวันคุ้มครองโลกที่ 22 เมษายน พ.ศ.2555 นี้ นอกจากการเจริญสมาธิภาวนา และถวายมหาสังฆทาน แด่คณะพระภิกษุสงฆ์ 20,000 วัด ทั่วประเทศแล้ว ยังมีพิธีหล่อรูปเหมือน พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ด้วยทองคำ อีกด้วย