ชี้แจงกรณี เดินธุดงค์ธรรมชัย อัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ชี้แจงกรณี เดินธุดงค์ธรรมชัย อัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

ข้อชี้แจงกรณี การเดินธุดงค์ธรรมชัย อัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จากวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี นำไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2 - 6 เมษายน พ.ศ.2555

1. โครงการธุดงค์ธรรมชัย อัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคล​เทพมุนี (สด จนฺทสโร) จัดขึ้นในโอกาสฉลองพุทธชยัน​ตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรม เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อให้พุทธบริษัท 4 ปฏิบัติ “ทาน ศีล ภาวนา” และ “ศีล สมาธิ ปัญญา” ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. โครงการธุดงค์ธรรมชัยในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการตักบาตรพระ 120,400 รูป ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ครบ 1 ล้านรูป ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นเดือนแห่งมาฆบูชา ที่ผ่านมา และเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งพระบรมราช​วงศ์จักรี คือ วันที่ 6 เมษายน จึงได้จัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่​พระบูรพมหากษัตริยาธิราช และ​พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ​ระหว่างวันที่ 2 - 6 เมษายน พ.ศ. 2555

3. การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้ “เส้นทางอัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)” ไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่​ได้จัดตักบาตรพระ 120,400 รูป ฉลองพุทธชยันตีไปแล้ว เป็นการปฏิบัติ “ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งกิจกรรมบุญกุศลเช่นนี้ สามารถจัดได้ทุกที่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ทั้งกรุงเทพมหานคร และประเทศไทย

4. การถือธุดงควัตร... “ธุดงค์” แปลว่า “องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ 13 ข้อ ภิกษุจะถือปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็ได้เพื่อฝึกปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ตนเอง ในครั้งนี้ทางโครงการฯได้กำหนดให้พระธุดงค์ ถือธุดงควัตร 2 ข้อ ได้แก่ ข้อที่ 5 คือ ฉันมื้อเดียว และข้อที่ 12 คือ อยู่ในที่พักที่เขาจัดให้โดยไม่เลือก ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้ ปฏิบัติได้ทุกที่ ทั้งในเมือง ในบ้าน ในป่า ในวัด แต่ครั้งนี้ปฏิบัติในเส้นทางอัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว​

5. ในการเดินธุดงค์ พระธุดงค์ธรรมชัย ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติธรรมที่มาจากทั่วประเทศ ขณะเดิน พระธุดงค์ได้ทำสมาธิ​ สำรวม กาย วาจา ใจ ไปตลอดเส้นทางการเดิน และอธิษฐานจิตให้กรุงเทพฯ และประเทศไทย มีแต่ความสงบร่มเย็น นำความสิริมงคลแก่ประเทศ

6. การเดินธุดงค์ครั้งนี้ เดินตามรอยพระสัมมาสัมพุทธเ​จ้า เพราะในสมัยพุทธกาล เกิดภัยพิบัติที่เมืองเวสาลี ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองจึงอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวก 500 รูป เสด็จมายังเมืองเวสาลีเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยระหว่างส่งเสด็จและรับเสด็จ ชาวเมืองได้โปรยดอกไม้หลากสี ตั้งฉัตร ธงทิว รับ-ส่งเสด็จ หลายสิบกิโลเมตร เพื่อถวายการต้อนรับ ในครั้งนี้ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นประสบมหาอุทกภัย และปีนี้เรากำลังประสบอัคคี​ภัยในหลายครั้งหลายหน ทั้งไฟไหม้ พลุระเบิด แก๊สระเบิด ฯลฯ พระธุดงค์ต่างเดินทำสมาธิไป​ เพื่อให้กรุงเทพฯ และประเทศไทย สงบสุข และชวนชาวไทยมาโปรยกลีบกุหลาบ ถวายการต้อนรับพระ ฝึกความเคารพในพระรัตนตรัย แ​ละให้มีส่วนแห่งบุญกับพระธุดงค์ เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล ซึ่งทุกวันมีชาวบ้านออกมาต้อนรับคณะพระธุดงค์เป็นจำนวนมา​ก

7. ด้านการจราจร ทางโครงการฯขออภัยในความไม่สะดวก ที่อาจมีบางเส้นทางการจราจร​ติดขัด หรือชะลอตัวเป็นบางช่วง ทั้งนี้ ทางโครงการฯได้ประสานงานไปยังกองกำกับการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประสานงานในเรื่องเส้น​ทางจราจรแล้ว รวมทั้งได้จัดแถลงข่าว เพื่อให้ท่านสื่อมวลชนได้ช่วยประชาสัมพันธ์ 2 ครั้ง คือ วันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2555 โดยคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมรัฐสภา และในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2555 โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กรุงเทพมหานคร และภาคประชาชน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์การจัดงานและแนะนำการใช้เส้น​ทางเลี่ยงในวันที่ 2-6 เมษายน ดังกล่าวแล้ว

8. โครงการธุดงค์ธรรมชัย ได้รับการสนับสนุนจาก คณะสงฆ์ทั้งแผ่นดิน, สำนักนายกรัฐมนตรี, คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงวัฒนธรรม, กรุงเทพมหานคร, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,​ องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, สหพันธ์ร่วมใจไทยทั้งชาติ, ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์, วัดพระธรรมกาย, มูลนิธิธรรมกาย และกว่า 40 องค์กรภาคี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวาย​เป็นพุทธบุชา ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรม, ฟื้นฟูศีลธรรม, ฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน, ฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงาม ให้สมกับที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก และส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้พ่อแม่ลูกได้มาร่วมทำบุญ​ให้ร่วมกัน และสร้างความสามัคคีของชาวไทย ในการทำกิจกรรมงานบุญร่วมกัน

พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการธุดงค์ธรรมชัยฯ 2 เมษายน พ.ศ.2555

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้