วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คือ สถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วัดนี้เป็นสถานที่ทำวิชชาปราบมารจนกระทั่งท่านมรณภาพ วัดปากน้ำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมคลองหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่ อันเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวราราม และกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เนื่องจากวัดตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวงอีกทีหนึ่ง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า “วัดปากน้ำ” ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2453 และ พ.ศ.2474 ว่า “วัดสมุทธาราม” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันอย่างนั้น คงเรียกว่า “วัดปากน้ำ” มาโดยตลอด ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง 3 ด้าน ส่วนด้านทิศใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยก่อน
วัดปากน้ำเป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง (ระหว่าง พ.ศ.2031 – พ.ศ.2172) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏในตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาว่าเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา อันหมายถึงพระอารามที่พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระมเหสีทรงสถาปนาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ได้พบร่องรอยคลองเล็กด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของวัด ที่คนโบราณขุดไว้เป็นแนวเขตที่ดินของวัดหลวงสมัยอยุธยา ที่ตั้งของวัดปากน้ำจึงมีลักษณะเป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมอยู่ทุกด้าน สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดมาเช่น หอพระไตรปิฎก, ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบก ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตัวพระอุโบสถก็ใช้เทคนิคการก่อสร้างในสมัยนั้น ได้ค้นพบนามเจ้าอาวาส 1 รูป ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) คือ พระครูธนะราชมุนี วัดปากน้ำได้มีบทบาทสำคัญมาแต่โบราณ เพราะได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงที่อยู่นอกกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดสำคัญประจำหัวเมืองหน้าด่านทางทะเล ในจดหมายเหตุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถวายผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดปากน้ำ ตลอดรัชกาลวัดปากน้ำได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด (วัดปากน้ำยังเคยได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการซ่อมหลังคาพระอุโบสถคราวหนึ่ง)
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทางวัดได้รับพระบรมราชานุญาตให้พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำพร้อมทั้งอุบาสกและอุบาสิกาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกือบทั้งพระอารามโดยให้อนุรักษ์ศิลปะเดิมไว้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์นำพระกฐินหลวงมาถวายตลอดรัชกาล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วัดปากน้ำได้ชำรุดทรุดโทรมลง ไม่มีเจ้าอาวาสประจำพระอาราม มีแต่ผู้รักษาการที่อยู่ในอารามอื่น ทางเจ้าคณะปกครองได้ส่ง พระสมุห์สด จนฺทสโร จาก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้กวดขันพระภิกษุ-สามเณรให้ปฏิบัติในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญได้มีการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรมและบาลี สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้พระภิกษุ-สามเณร และสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดจึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ สมณศักดิ์สุดท้ายในพระราชทินนามที่ “พระมงคลเทพมุนี” แต่ผู้คนทั่วไปรู้จัก และเอ่ยขานนามท่านว่า “หลวงพ่อวัดปากน้ำ”
ในสมัยสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส วัดปากน้ำได้รับการปรับปรุงทัศนียภาพและบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ช่างได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเครื่องบนเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทั้งพระอาราม แต่ตัวรากฐานและอาคารยังคงเป็นของโบราณแต่เดิม มาถึงสมัยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ. 9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำรูปปัจจุบัน วัดปากน้ำได้พัฒนาอย่างมากในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในนามวัดปากน้ำเป็นจำนวนมาก และการปฏิบัติภาวนาตามแนวหลวงพ่อวัดปากน้ำก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มี สถานที่ปฏิบัติ คือ หอเจริญวิปัสสนาเป็นเอกเทศ มีผู้เข้าปฏิบัติเป็นจำนวนมากทุกวัน และได้มีการสร้างพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ปรับปรุงทัศนียภาพในหลายๆด้าน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของวัดปากน้ำ
สถานที่ทำวิชชา พระผู้ปราบมาร
แม้ว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จะรักชีวิตสันโดษ ด้วยการออกธุดงค์หาสถานที่วิเวกเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็ไม่เคยนิ่งดูดายต่อส่วนรวม ไม่ว่าท่านจะไปพักอยู่ ณ ที่ใด ท่านมักจะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้นในที่แห่งนั้นเสมอ กอปรกับท่านเป็นผู้ที่มีความสามารถในหลายๆด้าน จึงเป็นเหตุให้พระเถระผู้ใหญ่ในวงการคณะสงฆ์ คือ พระเดชพระคุณพระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสสทัตตเถระ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ พระอาจารย์ของท่าน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี1 ได้เล็งเห็นถึงคุณสมบัติที่ดีของท่าน และเห็นว่าท่านจะทำประโยชน์ให้กับพระศาสนาได้อีกมาก จึงมอบหมายให้ท่านย้ายไปจำพรรษาที่วัดปากน้ำเพื่อเป็นเจ้าอาวาส โดยในช่วงแรกให้รักษาการเจ้าอาวาสไปก่อน เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯรับคำแล้ว จึงได้แต่งตั้งให้เป็นพระครูสมุห์ฐานานุกรมของพระศากยยุติวงศ์ เมื่อมาถึงวัดปากน้ำ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯพบว่าอยู่ในสภาพกึ่งวัดร้าง ภายในวัดมีสภาพทรุดโทรม ในสมัยนั้นที่นี่เป็นสวนพลู สวนหมาก สวนมะพร้าว สวนเงาะ มีศาลาที่เก่ามาก มีโรงครัวเล็กๆ กุฏิก็มีไม่กี่หลัง เป็นกุฏิเล็กๆยกพื้น ปลูกด้วยไม่สัก พักได้รูปเดียว อยู่ตามร่องสวน พระภิกษุที่อยู่ก่อนมีจำนวน 13 รูป มักย่อหย่อนทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ทำให้ท่านต้องพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิดมาก่อนตั้งแต่วันแรกที่มาถึง แต่ท่านก็ไม่ได้ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ท่านกลับมีความคิดที่จะฟื้นฟูวัดปากน้ำให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นอีกด้วย พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯพยายามส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปในวัดปากน้ำได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เพราะท่านมุ่งที่จะพัฒนาให้พระภิกษุ-สามเณรมีความรู้ ท่านจะไม่ยอมให้พระภิกษุ-สามเณรในวัดอยู่ว่างๆ ทุกรูปต้องศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง และสั่งสอนญาติโยมได้
สำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯแล้วนอกจากจะศึกษาพระปริยัติธรรม ยังไม่เพียงพอ พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปต้องปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย ดังคำที่ว่า “ปริยัติเป็นยาทา วิปัสสนาเป็นยากิน” ในปี พ.ศ.2490 วัดปากน้ำได้รับการยกฐานะให้เป็นสำนักเรียนด้านปริยัติ มีพระครูพิพัฒน์ธรรมคณี เป็นอาจารย์ใหญ่ มีการสอนภาษาบาลี นักธรรมศึกษา และสามัญศึกษา แผนกภาษาบาลีนั้นทำการสอนตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ถึงเปรียญธรรม 6 ประโยค ที่สูงกว่านี้ยังไม่สามารถเปิดสอนได้ เพราะขาดบุคลากร อาคารเรียนในสมัยนั้นเป็นอาคารเรือนไม้ชั่วคราว และไม่เพียงพอต่อจำนวนพระภิกษุ-สามเณรที่เข้าเรียน เพราะขณะนั้นวัดปากน้ำมีพระสงฆ์จำพรรษาถึงกว่า 600 รูป และยังมีพระภิกษุ-สามเณรจากวัดใกล้เคียงมาศึกษาด้วย
ต่อมา พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมีดำริที่จะสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ให้ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม เพียงพอที่จะรองรับพระภิกษุ-สามเณรเข้าศึกษาได้มากๆ โดยท่านตั้งใจที่จะสร้างเป็นอาคารถาวร มีโครงสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น ชั้น 1 และชั้น 2 สำหรับเรียนพระปริยัติธรรม ส่วนชั้น 3 สำหรับนั่งเจริญภาวนา อาคารเรียนหลังนี้สามารถรองรับพระภิกษุ-สามเณร ได้ถึง 1,000 รูป เริ่มวางศิลาฤกษ์ในปี พ.ศ.2493 และเริ่มก่อสร้างในปีเดียวกัน โรงเรียนปริยัติธรรมแห่งนี้สร้างเสร็จและเปิดทำการสอนในปี พ.ศ.2497 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ตั้งชื่ออาคารหลังนี้ว่า “โรงเรียนภาวนานุสนธิ์” ในสมัยนั้นนับว่าเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ใหญ่ที่สุดและมีอุปกรณ์การศึกษาครบครัน การศึกษาพระปริยัติธรรมของวัดปากน้ำเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ มีพระภิกษุสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดของการคณะสงฆ์ คือ เปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันสำนักเรียนวัดปากน้ำเป็นสำนักเรียนใหญ่แห่งหนึ่งของคณะสงฆ์ สถิติของผู้เรียนและผู้สอบผ่าน ทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีอยู่ในเกณฑ์ดีมาโดยตลอด ดังนั้นทางคณะสงฆ์จึงได้ยกย่องสำนักเรียนวัดปากน้ำโดยมอบกิตติบัตร-พัดรอง ประกาศเกียรติคุณเป็นสำนักเรียนตัวอย่างในปี พ.ศ.2526
เป็นที่ทราบกันดีว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมีความมุ่งมั่นในการเจริญภาวนาเป็นที่สุด จะเห็นได้จากกิจวัตรประจำวันของท่านเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแทบทั้งสิ้น และที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ท่านไม่ชอบออกไปนอกวัด เพราะเกรงจะเสียเวลาในการทำวิชชา หากสุดวิสัยจำเป็นต้องออกไป ท่านก็จะรีบกลับ โดยไม่ยอมไปค้างคืนที่อื่นเลยนับแต่เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ คำว่า “ทำวิชชา” ในที่นี้อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับบางท่าน และการจะอธิบายว่าการทำวิชชา คือ อะไร ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และยากต่อการทำความเข้าใจเช่นกัน เพราะเหตุที่เป็นเรื่องลึกซึ้งละเอียดอ่อน ผู้ที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี คือ ผู้ที่ได้ธรรมกายแล้ว และเคยมีประสบการณ์ในการทำวิชชามาก่อน ซึ่งในสมัยนั้นผู้ที่ทำวิชชาได้ก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน เท่าที่ประมวลจากเรื่องราวการทำวิชชาในสมัยพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พอจะกล่าวเพื่อความเข้าใจในระดับเบื้องต้นได้ว่า การทำวิชชา คือ การทำงานทางจิตชนิดหนึ่งของผู้ที่ได้ธรรมกายแล้ว โดยที่การทำงานชนิดนี้มีลักษณะของการศึกษาและค้นคว้าทางจิตไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีครูผู้เชี่ยวชาญ คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯคอยควบคุมดูแลอยู่ด้วย เทียบกับในยุคนี้ก็ดูคล้ายๆกับศาสตราจารย์ด้านใดด้านหนึ่งนำคณะทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการในสาขาวิชาที่ตนเชี่ยวชาญ ฉะนั้น สถานที่ทำวิชชาหรือที่เรียกว่า “โรงงานทำวิชชา” ในสมัยนั้น ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร ใกล้หอไตร เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างมีท่อต่อถึงกันสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯใช้ “สั่งวิชชา” ลงมาทางท่อนี้ ซึ่งผู้อยู่เวรก็จะได้ยินโดยทั่วกัน และจะเจริญวิชชาตามคำสั่งนั้นๆ มีผู้อยู่เวรทำวิชชากะละประมาณ 10 คน ตัวเรือนโรงงานทำวิชชา มีขนาดไม่กว้างใหญ่นัก ชั้นล่างตั้งเตียงเป็น 2 แถว ซ้ายและขวา ข้างละ 6 เตียง ตรงกลางเว้นเป็นทางเดิน พอให้เดินได้สะดวก ชั้นล่างสำหรับฝ่ายแม่ชีและอุบาสิกาใช้นั่งเจริญวิชชาและเป็นที่พักอาศัยด้วย มีผู้อยู่เวรที่ไม่พักในโรงงานทำวิชชาบ้างแต่ก็เพียงไม่กี่คน ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างไม่มีบันไดเชื่อมต่อกัน และทางเข้าออกก็แยกกันคนละทาง ชั้นบนมีทางเข้าต่างหาก ใช้เป็นที่เจริญวิชชาสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ และพระภิกษุ-สามเณรที่อยู่เวรทำวิชชา
การทำงานในโรงงานทำวิชชา ทั้งสองฝ่ายต่างแบ่งเป็น 2 ผลัด ผลัดแรกเริ่มเข้าที่นั่งสมาธิตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ผลัดที่สองเริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า ตอนกลางวันผลัดแรกมารับครึ่งวันตอนเช้า ผลัดสองมาต่อครึ่งวันตอนเย็น นั่งหมุนเวียนกันตลอด 24 ชั่วโมงไม่ได้หยุด ในห้องทำวิชชานั้นจะมี “เตียงขาดรู้” เป็นเตียงสี่เหลี่ยมสำหรับผู้นั่งสมาธิแยกออกมาจากคนอื่นๆ คำว่า “ขาดรู้” คือ ขาดจากความรับรู้ของกายมนุษย์ ตัดขาดจากความรู้สึกภายนอก ดิ่งเข้าไปในธรรมะภายในเพียงอย่างเดียว ปล่อยใจเข้าไปสู่ธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่นั่งสมาธิบนเตียงขาดรู้จะนั่งได้หลายๆชั่วโมง ที่เตียงจะมีมุ้งเล็กๆสำหรับกันยุง สำหรับที่นั่งรวมจะมีมุ้งหลังใหญ่ ทางฝ่ายพระมีประมาณ 30 รูป ทางฝ่ายแม่ชีก็มีจำนวนใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ที่ไม่ได้ธรรมกายนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯไม่อนุญาตให้เข้าไป เพราะเกรงว่าจะไปรบกวนสมาธิของผู้ที่กำลังเจริญภาวนา นอกจากนั้นก็อาจจะเกิดความสงสัยในเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง อันไม่เป็นผลดีใดๆ ต่อมาภายหลัง ได้มีโรงงานทำวิชชาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาวพอสมควร ตรงกลางมีฝากั้น แบ่งเป็น 2 ห้องแยกขาดจากกัน โดยมีประตูเข้าออกคนละทาง ส่วนหน้าเป็นที่สำหรับแม่ชีและอุบาสิกา ส่วนหลังเป็นที่สำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระภิกษุและสามเณร เวลา “สั่งวิชชา” พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจะพูดผ่านฝากั้นห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกันเท่านั้น วันที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯเริ่มรวบรวมกลุ่มผู้ที่ได้ธรรมกายเพื่อทำวิชชา คือ วันเข้าพรรษาปี พ.ศ.2474 และทำมาตลอดไม่ได้หยุดเลยแม้แต่วันเดียว จนกระทั่งท่านมรณภาพในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 เวลา 15.05 น. สิริอายุรวมได้ 74 ปี 3 เดือน 24 วัน 53 พรรษา
- 1 พ.ศ.2514 ได้มีการรวมจังหวัดธนบุรีกับจังหวัดพระนคร เป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และเปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เมื่อปี พ.ศ.2515
อ้างอิง:
- ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์ (GL 305) Dhammakaya Open University, California, USA
- www.watpaknam.org
บทความที่เกี่ยวข้อง: เส้นทางมหาปูชนียาจารย์