วัดบางปลา จังหวัดนครปฐม
วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม คือ สถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วัดนี้เป็นสถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรกของท่าน หลังจากบรรลุธรรม
วัดบางปลาเป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ไม่สามารถค้นหาหลักฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่วิเคราะห์จากสภาพของวิหารซึ่งมีอายุเกาแก่มาก และจากคำบอกเล่าที่บอกสืบต่อๆกันมาว่า “วัดนี้เกิดขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์” ดังนั้น ถ้าจะประมาณอายุจากวิหารเก่าแก่ และจากเอกสารบางอย่างที่เกี่ยวกับอายุของวัด คือ นิราศของสุนทรภู่ ที่ได้กล่าวไว้ตอนล่องเรือผ่านมาทางปากคลองบางปลา สันนิษฐานได้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพื้นที่ตั้งวัดอยู่ติดกับแม่น้ำนครชัยศรี และคลองบางปลา (ปากคลอง) ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “วัดบางปลา” จนติดปาก และกลายมาเป็นชื่อของวัดจนถึงทุกวันนี้
ปฐมเริ่มเผยแผ่วิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (ปี พ.ศ.2460) เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ค้นพบวิชชาธรรมกายแล้ว ท่านได้คำนึงว่า “คัมภีโรจายัง1 ธรรมเป็นของลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงได้ ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด นี่เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้แล้ว ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด” ท่านยังคงนั่งเจริญภาวนาทบทวนอย่างนี้ต่อไปอีกประมาณ 30 นาที ในขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิเจริญภาวนาอยู่นั้น ได้เกิดภาพของวัดบางปลาปรากฏขึ้นในสมาธิ ความรู้สึกในขณะนั้นเหมือนตัวท่านอยู่ที่วัดนั้น ทำให้คิดว่าธรรมที่รู้เห็นได้ยากนี้ ที่วัดบางปลาจะต้องมีผู้ที่สามารถบรรลุธรรมได้แน่นอน ภาพของวัดบางปลาจึงปรากฏขึ้นในสมาธิ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างเต็มที่ เพื่อค้นคว้าหาที่สุดแห่งธรรม ยิ่งค้นก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้นไปทุกที ท่านปฏิบัติอยู่อย่างนี้อีกประมาณเดือนเศษจนออกพรรษา เมื่อรับกฐินแล้ว ท่านจึงลาเจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน บางคูเวียงไปพักอยู่ที่วัดบางปลา เพื่อไปสอนธรรมที่ท่านได้รู้ได้เห็นแล้ว ท่านสอนอยู่ประมาณ 4 เดือน ได้มีพระภิกษุที่สามารถปฏิบัติตามอย่างท่านได้ 3 รูป คือ พระภิกษุสังวาลย์, พระภิกษุแบน และพระภิกษุอ่วม รวมทั้งคฤหัสถ์อีก 4 คน จากนั้น พรรษาที่ 13 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้พาพระภิกษุสังวาลย์ไปจำพรรษาที่วัดสองพี่น้อง ที่วัดนี้มีพระภิกษุได้เห็นธรรมอีก 1 รูป คือ พระภิกษุหมก หลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปพักที่วัดประตูสาร จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ของท่าน (ในขณะนั้นได้มรณภาพแล้ว) และพักที่นั่นเป็นเวลา 4 เดือน เมื่อออกจากวัดประตูสาร พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้แวะไปรับพระภิกษุหมก, พระภิกษุปลด (พระพุทธิวงศาจารย์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร), พระภิกษุพล (พระครูโสภณราชวรวิหาร2 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร) และพระภิกษุฮั้ว วัดป่าพฤษ์ ที่วัดสองพี่น้อง ก่อนที่จะเดินทางไปอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป
- 1 คมฺภีโร จายํ ทุทฺทโส ทุรานุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนิโย (ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยาก ตรัสรู้ได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต คิดเดาไม่ได้ ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้)
- 2 ภายหลังได้ลาสิกขา
อ้างอิง: ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์ (GL 305) Dhammakaya Open University, California, USA
บทความที่เกี่ยวข้อง: