วัดโบสถ์บน บางคูเวียง :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วัดโบสถ์บน บางคูเวียง

วัดโบสถ์บน บางคูเวียง

วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี เป็นสถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่บรรลุธรรมของท่าน วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ 4 ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งยังอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพสมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันงดงามล้ำค่าแห่งบรรพบุรุษไทย ประวัติความเป็นมาและผู้สร้างวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ไม่แน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าที่ปรากฏในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2526) ที่ว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ พระอุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2300 ในสมัยอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ.2310 พื้นที่โดยรอบวัดเป็นวัดเป็นสวนและคลองซอย

ถึงแม้วัดโบสถ์บน บางคูเวียง จะอยู่ในสวน แต่ก็มีความอัศจรรย์ของสถานที่แห่งนี้หลายอย่าง มีพระมหาเถระที่มีความสำคัญและทรงวิทยาคุณมาพักพาอาศัยบำเพ็ญสมณธรรมหลายยุคหลายสมัย เช่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ดังมีหลักฐาน คือ มณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ขนาดความกว้าง 1 ศอกเศษ ยาว 3 ศอกเศษ ซึ่งเป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง ปัจจุบันวัดบูรณะให้อยู่ในสภาพคงทนถาวร ถัดมา คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เมื่อครั้งเป็นพระภิกษุหนุ่ม ได้เดินทางจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) มาจำพรรษาที่วัดนี้ และบำเพ็ญสมณธรรมอย่างอุกฤษฏ์เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ได้บรรลุธรรม ณ พระอุโบสถหลังเดิมของวัด เมื่อวันเพ็ญเดือน 10 ตรงกับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2460 และต่อมามีการปฏิบัติธรรมตามแนวของท่าน สืบกันมาเป็นลำดับ พระอุโบสถหลังเดิมของวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในความดูแลของกรมศิลปากร และมีบันทึกของกรมศิลปากรว่าเคยบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2475 เนื่องจากหน้ามุขของพระอุโบสถพังทลายจึงเปลี่ยนหน้ามุขและกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ และประมาณปี พ.ศ.2500 ซ่อมผนังที่เสื่อมสภาพอีกครั้งหนึ่ง ความพิเศษของพระอุโบสถหลังนี้ คือ มีพระประธาน พระพุทธรูปบริวาร 28 องค์ และพระอัครสาวก 2 องค์ รอบโบสถ์มีใบเสมาโบราณ นอกจากนี้ด้านหน้ายังมีเจดีย์โบราณ 4 องค์ เมื่อมีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เมื่อพ.ศ.2538 จึงใช้พระอุโบสถหลังเดิมเป็นวิหารปฏิบัติธรรม และกลายเป็นอนุสรณ์สถานสำคัญของคณะศิษยานุศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้จาริกแสวงบุญ ปฏิบัติธรรม และบำเพ็ญกุศลตลอดปี

วันแห่งการบรรลุธรรม พระผู้ปราบมาร

นอกจากการเรียนด้านคันถธุระแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ยังสนใจในการเรียนด้านวิปัสสนาเป็นชีวิตจิตใจ นับจากวันแรกที่บวช ท่านได้เรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ตลอดพรรษาแรก นอกจากนี้ท่านยังหาความรู้ด้านวิปัสสนาเพิ่มเติมจากตำรา โดยส่วนใหญ่อ่านจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ถ้าวัดไหนหยุดเรียนคันถธุระ ท่านมักจะไปหาพระอาจารย์ต่างๆที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา เพราะต้องการหาความรู้เพิ่มเติม สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯเรียนอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อนก1 จึงไปเยี่ยมหลวงพ่อนกที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง หลวงพ่อนกมักให้ท่านไปเทศน์แทนอยู่เสมอ กิจวัตรที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯทำเป็นประจำเวลามาอยู่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง คือ เวลาบ่ายสองโมง ท่านจะเข้าไปปฏิบัติสมาธิในโบสถ์ บรรยากาศในสมัยนั้น รอบโบสถ์มีต้นไม้มาก เป็นป่าล้อมรอบ มีความเงียบสงัดไปทั่วบริเวณ ท่านจึงไปๆมาๆที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง อยู่เป็นประจำ เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯหยุดเรียนด้านคันถธุระแล้ว ท่านจึงมุ่งปฏิบัติด้านวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง ในขณะนั้นท่านต้องการที่จะไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในตำบลบางกอกน้อย เพราะต้องการจะตอบแทนพระคุณของเจ้าอธิการชุ่ม (เจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในสมัยนั้น) ซึ่งเคยถวายคัมภีร์มูลกัจจายน์ และคัมภีร์พระธรรมบท ให้ท่านได้เรียนพระปริยัติธรรม ด้วยการช่วยแสดงธรรมให้กับพระภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกาในวัด ท่านจึงกราบลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ เดินทางไปจำพรรษาที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในพรรษาที่ 12 เมื่อถึงกลางพรรษา ท่านก็มีความคิดว่า “ในเมื่อเราตั้งใจจริงๆในการบวช จำเดิมอายุ 19 ปี เราไปปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง 15 พรรษา2 ย่างเข้าพรรษานี้แล้ว ก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เรายังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง”

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (ปี พ.ศ.2460) เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯก็เข้าไปนั่งสมาธิเจริญภาวนาในพระอุโบสถ ขณะนั้นเวลาประมาณแปดโมงเศษๆ ท่านได้เริ่มทำความเพียร โดยตั้งใจว่าหากยังไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจดังนั้นแล้ว ก็หลับตาภาวนา “สัมมาอะระหัง” ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการเหน็บชา ค่อยๆเพิ่มทีละน้อยๆ และมากขึ้นจนมีความรู้สึกว่ากระดูกทุกชิ้นแทบจะระเบิดหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ จนเกือบจะหมดความอดทน ความกระวนกระวายใจก็ตามมา ท่านรำพึงในใจว่า “เอ...แต่ก่อนเราไม่เคยรู้สึกเช่นนี้เลย พอตั้งสัจจะลงไปว่า ถ้ากลองเพลไม่ดังจะไม่ลุกจากที่ เหตุใดมันจึงเพิ่มความกระวนกระวายใจมากมายอย่างนี้ ผิดกว่าครั้งก่อนๆที่นั่งภาวนา เมื่อไรหนอ กลองเพลจะดังสักที” คิดไปจิตก็ยิ่งแกว่งและซัดส่ายมากขึ้น จนเกือบจะเลิกนั่งหลายครั้ง แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไปแล้วท่านก็ทนนั่งต่อไป ในที่สุดใจก็ค่อยๆสงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ในใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก ความปวดเมื่อยหายไปไหนไม่ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้นเสียงกลองเพลก็ดังขึ้น วันนั้นพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมีความสุขตลอดทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสก็ยังเห็นติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา

ในช่วงเย็น หลังจากได้ร่วมลงฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนภิกษุ ท่านได้เข้าไปในพระอุโบสถแล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดหายไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ถ้านั่งลงไปแล้ว ไม่บรรลุธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเห็น จะไม่ยอมลุกขึ้นจากที่จนตลอดชีวิต” เมื่อตั้งจิตอธิษฐานเสร็จ จึงเริ่มนั่งและตั้งจิตอ้อนวอนแด่พระพุทธเจ้าว่า... “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต” เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯตั้งความปรารถนาแล้ว ก็เริ่มนั่งขัดสมาธิเข้าที่ภาวนา พอดีนึกถึงมดขี้ที่อยู่ระหว่างช่องแผ่นหินซึ่งกำลังไต่ไปมา จึงหยิบขวงน้ำมันก๊าด เอานิ้วมือจุ่มเพื่อจะเขียนวงให้รอบตัวกันมดรบกวน แต่พอจรดนิ้วที่พื้นยังไม่ถึงครึ่งวง ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า "ชีวิตสละได้ แต่ทำไมยังกลัวมดขี้อยู่เล่า" ท่านนึกละอายตัวเอง จึงวางขาดน้ำมันลง แล้วนั่งเข้าที่ได้ประมาณครึ่งค่อนคืน เมื่อใจหยุดเป็นจุดเดียวกันก็มองเห็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ซึ่งยังติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายจากเมื่อเพล ยิ่งมองยิ่งใสสว่างมากขึ้น และขยายใหญ่ขนาดเท่าดวงอาทิตย์ ดวงใสยังคงสว่างอยู่อย่างนั้น โดยที่ท่านก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทุกสำนักที่ท่านได้ศึกษามาไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน

ขณะที่ใจหยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น ก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากจุดกลางดวงนั้นว่า “มัชฌิมา ปฏิปทา” แต่ขณะที่เสียงนั้นดังแผ่วขึ้นมาในความรู้สึก ก็เห็นจุดเล็กๆเรืองแสง สว่างวาบขึ้นมาจากกลางดวงนั้นเสมือนจุดศูนย์กลางของวงกลม ความสว่างของจุดนั้นสว่างกว่างดวงกลมรอบๆ ท่านมองเรื่อยไป พลางคิดในใจว่า “นี่กระมังทางสายกลาง จุดเล็กที่เราเพิ่งจะเห็นเดี๋ยวนี้อยู่กึ่งกลางพอดี ลองมองดูซิ จะเกิดอะไรขึ้น” จุดนั้นค่อยๆขยายขึ้นและโตเท่ากับดวงเดิม ดวงเก่าหายไป ท่านมองไปเรื่อยๆก็เห็นดวงใหม่ลอยขึ้นมารแทนที่ เหมือนน้ำพุที่พุ่งขึ้นมาแทนที่กัน ต่างแต่ใสยิ่งขึ้นกว่าดวงเดิม ในที่สุดก็เห็นกายต่างๆผุดซ้อนกันขึ้นมาจนถึงธรรมกาย เป็นพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธรูปบูชาองค์ใด เสียงพระธรรมกายกังวานขึ้นมาในความรู้สึกว่า “ถูกต้องแล้ว” ความปีติสุขก็เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านถึงกับรำพึงขึ้นมาเบาๆว่า “เออ...มันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงได้ไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด” การค้นพบวิชชาธรรมกายอันเป็นของจริงของแท้ เป็นทางบรรลุธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุมาแล้ว เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมาก พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจึงมาคำนึงว่า “คัมภีโรจายัง3 ธรรมเป็นของลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงได้ ต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด นี่เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้แล้ว ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาด”

  • 1 หลวงพ่อนกอยู่ที่วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในสมัยที่เจ้าอธิการชุ่มเป็นเจ้าอาวาส และได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากเจ้าอธิการชุ่ม
  • 2 หมายถึง 15 ปี นับตั้งแต่เริ่มอธิษฐานจิตที่คลองบางอีแท่น
  • 3 คมฺภีโร จายํ ทุทฺทโส ทุรานุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนิโย (ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยาก ตรัสรู้ได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต คิดเดาไม่ได้ ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้)

อ้างอิง:

  • ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์ (GL 305) Dhammakaya Open University, California, USA
  • บทความของคุณไตรเทพ ไกรงู / คมชัดลึก

บทความที่เกี่ยวข้อง: