วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ วัดแห่งนี้เป็นสถานที่เกิดในเพศสมณะของท่าน วัดสองพี่น้องเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.2212 (ในรัชสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช) ประวัติของวัดพบในจารึกเจ้าแม่ดุสิต พูดถึงอาจารย์พิรอด หรืออาจารย์คง ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงนิมนต์ไปอยู่กรุงศรีอยุธยา ที่มาของชื่อ “สองพี่น้อง” เล่าสืบกันมาว่า มีช้างสองเชือก เข้าใจว่าเป็นพี่น้องกัน เดินมาจากพุม่วง หรือป่าต้น ในอำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นที่อาศัยของช้างของพระมหากษัตริย์ ในหน้าแล้งมักจะมาหากินแถวนี้ ทางดินที่ช้างเดินย่ำเป็นที่ลุ่ม จนกลายเป็นคลอง จึงเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง” เมื่อครั้งที่สุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุ ได้ล่องเรือผ่านมาพักแรมที่วัดสองพี่น้อง มีบันทึกไว้ในนิราศสุพรรณ ซึ่งเขียนเป็นโคลง กล่าวถึงว่า ได้นำมะพร้าวอ่อนและกล้วยถวายที่ศาล ความว่า…
สรวงจ้าวพร้าวอ่อนกล้วย | ด้วยเอย |
เชิญพี่น้องสองเสวย | สว่างร้อน |
แรกมาอย่าถือเลย | ลุกระโทษ โปรดพ่อ |
ขอแร่แม่เก็จก้อน | กับเต้าเจ้ายางฯ |
วัดสองพี่น้องเป็นที่กล่าวถึงกันมากในสมัยหลวงพ่อเหนี่ยง อินฺทโชโต หรือพระครูวินยานุโยค ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์สร้างความเจริญให้กับวัดเป็นอย่างมาก คู่กับหลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ ซึ่งมีความสามารถในการอบรมสั่งสอน ลูกศิษย์ของท่าน เช่น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ, สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น) หรือ สมเด็จป๋า วัดโพธิ์
วัดสองพี่น้องมีอายุมานานกว่า 340 ปีแล้ว สิ่งก่อสร้างเดิมๆได้พังทลายไปตามกาลเวลา พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว เป็นอาคารทรงไทยตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย อาคารพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อนสองชั้นลดสามชั้น มุงกระเบื้อง หน้าบรรณเป็นปูนปั้นเจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระเมาลี พนังด้านหน้าพระอุโบสถเขียนภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ เช่น ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา, ธิดาพญามารมายั่วยวน, โปรดปัญจวัคคีย์ เป็นต้น ผนังด้านหลังพระอุโบสถด้านนอก เขียนภาพตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ ผนังรายรอบพระอุโบสถด้านใน เขียนเรื่องราวสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีนาค, ยักษ์, คนธรรพ์ และสัตว์หิมพานต์อื่นๆ กำลังเหาะเหินเดินอากาศอย่างเริงร่า ที่ผนังด้านขวาพระประธาน เขียนเรื่องราวพระอาทิตย์ทรงรถ ผนังด้านซ้าย เขียนรูปพระจันทร์ทรงรถ ด้านหลังพระประธานมีวิมานต่างๆ เขาพระสุเมรุ และพระอินทร์ เขียนโดยศิลปินในยุคปัจจุบัน พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร อยู่เบื้องซ้ายขวา
ด้านหน้าพระอุโบสถมีโกศบรรจุอัฐิบูรพาจารย์ ตั้งไว้เป็นที่เคารพ เคียงข้างกับพระอุโบสถมีวิหารทรงไทย อาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบรรณมีขนาดใหญ่ด้านบนสุดเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร และมีหงส์ทองยืนบนฐานบัว ตบแต่งส่วนว่างของหน้าบรรณด้วยจานชามกระเบื้องเบญจรงค์และกระเบื้องจีนที่ยังคงความสมบูรณ์ มีเรือนไทยอยู่บริเวณด้านหน้าศาลาอเนกประสงค์ใช้เป็นที่ต้อนรับพระอาคันตุกะและใช้ในงานสำคัญของวัด ตรงด้านทางออกของวัดมีพระธาตุเจดีย์ศรีสังฆราชา อุภัยภาดารามสถิต ประดับลวดลายงดงาม คล้ายเจดีย์วัดโพธิ์ เป็นที่บรรจุอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชปุ่น หรือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ หรือ สมเด็จป๋า วัดโพธิ์ ซึ่งเคยบวชอยู่ที่นี่ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับการคัดเลือกจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ประจำปี พ.ศ.2543 (ในปี พ.ศ.2543 กรมการศาสนายังอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ.2545 กรมการศาสนาได้แยกออกจากกระทวงศึกษาธิการ และแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงาน คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีฐานะเท่ากับกรม ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี และกรมการศาสนา สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม)
ชีวิตสมณะ พระผู้ปราบมาร
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯใช้ชีวิตอยู่กับการค้าข้าวเลี้ยงโยมแม่และครอบครัวเรื่อยมา จนกระทั่งอายุย่างเข้า 19 ปี ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในชีวิต ซึ่งเป็นจุดหักเหให้ท่านเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างจากคนทั่วไป กล่าวคือ วันหนึ่งหลังจากค้าข้าวเสร็จ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯและลูกน้องได้นำเรือเปล่ากลับบ้าน ในคืนนั้นล่องเรือไปด้วยความยากลำบาก เพราะน้ำในคลองไหลเชี่ยว แต่ก็พยายามถ่อเรือต่อไป จนมาถึงคลองเล็กๆสายหนึ่ง ซึ่งเป็นเส้นทางลัด ชาวบ้านเรียกคลองนี้ว่า “คลองบางอีแท่น1” อยู่เหนือตลาดใหม่ แม่น้ำนครไชยศรี จังหวัดนครปฐม คลองนี้เป็นคลองเปลี่ยวและมีโจรผู้ร้ายชุกชุม ในขณะนั้นมีเรืองเพียงลำเดียวเท่านั้นที่แล่นเข้าไปในคลอง เมื่อเรือแล่นเข้าไปได้เล็กน้อย ท่านก็กลัวว่าจะโดนโจรปล้นและทำร้าย ถ้าโจรปล้นจริงๆ ท่านจะโดนทำร้ายก่อน เพราะยืนอยู่ทางท้ายเรือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจึงเกิดความคิดขึ้นว่า “อ้ายน้ำก็เชี่ยว อ้ายคลองก็เล็ก อ้ายโจรก็ร้าย ท้ายเรือเข้าก็ไล่เลี่ยกับฝั่ง ไม่ต่ำไม่สูงกว่ากันเท่าไรนัก น่าหวาดเสียวอันตราย เมื่อโจรมาก็ต้องยิงหรือทำร้ายคนท้ายก่อน ถ้าเขาทำเราเสียได้ก่อน ก็ไม่มีทางที่จะสู้เขา ถ้าเราเอาอาวุธปืนแปดนัดไว้ทางหัวเรือ แล้วเราไปถือเรือทางลูกจ้างเสีย เมื่อโจรมาทำร้าย เราก็จะมีทางสู้ได้บ้าง” เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงหยิบปืนยาวบรรจุกระสุนแปดนัด ไปอยู่หัวเรือ บอกให้ลูกเรือมาถือท้ายเรือแทน ขณะถ่อเรือแทนลูกจ้างอยู่นั้น ท่านพลันเกิดความคิดขึ้นมาว่า “คนพวกนี้ เราจ้างเขาคนหนึ่งๆ เพียง 11-12 บาทเท่านั้น ส่วนตัวเราเป็นเจ้าของทั้งทรัพย์ทั้งเรือ หากจะโยนความตายไปให้ลูกจ้างก่อน ก็ดูจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์มากเกินไป ทำอย่างนี้ไม่ถูก ไม่สมควร” เมื่อเกิดจิตเมตตาและนึกตำหนิตัวเองเช่นนี้ ท่านจึงตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า “ทรัพย์ก็ของเรา เรือก็ของเรา เราควรตายก่อนดีกว่า ส่วนลูกจ้างนั้น เมื่อมีภัยมาถึง เขาควรจะได้หนีเอาตัวรอด ไปทำมาหาเลี้ยงบุตรภรรยาของเขาได้อีก” เมื่อตกลงใจเช่นนั้น จึงเรียกลูกเรือให้มาถ่อเรือแทน ส่วนตัวเองก็ถือปืนคู่มือกลับมานั่งท้ายเรือตามเดิม
เรือยังคงแล่นต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่คิด เมื่อเรือแล่นมาใกล้จะออกจากคลอง จนเห็นปากทางออก ก็รู้ได้ว่าปลอดภัยแล้ว แต่ในใจของท่านยังคิดถึงความตายอยู่ตลอดเวลา และทันใดนั้น ธรรมสังเวชก็เกิดขึ้นในใจของท่านว่า “การหาเงินหาทองนี้ลำบากจริงๆเจียวหนา บิดาของเราก็หามาดังนี้ เราก็หาซ้ำรอยบิดา ตามบิดาบ้าง เงินแลทองที่หากันทั้งหมดด้วยกันนี้ ต่างคนก็ต่างหา ไม่มีเวลาหยุดด้วยกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่เร่งรีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนต่ำและเลว ไม่มีใครนับถือแลคบหา เข้าหมู่เขาก็อายเขา เพราะเป็นคนจนกว่าเขา ไม่เทียมหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่กับเขา ปุรพชนต้นสกุลของเราก็ทำมาดังนี้ เหมือนๆกันจนถึงบิดาของเรา แลตัวของเรา ก็บัดนี้ปุรพชนแลบิดาของเราไปทางไหนหมด ก็ปรากฏแก่ใจว่าตายหมดแล้ว แล้วตัวของเราเล่า ก็ต้องตายเหมือนกัน” เมื่อคิดถึงความตายขึ้นมาอย่างนี้ก็เริ่มกลัว และนึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเองต่อไปอีกว่า “เราต้องตายแน่ๆ บิดาเราก็มาล่องข้าว ขึ้นจากเรือก็เจ็บมาจากตามทางแล้ว ขึ้นจากเรือข้าวไม่ได้กี่วันก็ถึงแก่กรรม เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เราที่ช่วยพยาบาลอยู่ ไม่ได้เห็นเลยที่จะเอาอะไรติดตัวไป ผ้าที่นุ่งแลร่างกายของแก เราก็ดูแลอยู่ ไม่เห็นมีอะไรหายไป ทั้งตัวเราแลพี่น้องของเราที่เนื่องด้วยแก ตลอดถึงมารดาของเราก็อยู่ ไม่เห็นมีอะไรเลยที่ไปด้วยแก แกไปผู้เดียวแท้ๆ ก็ตัวเราเล่าต้องเป็นดังนี้ เคลื่อนความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้แน่” เมื่อท่านคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็นอนแผ่ลงไปที่ท้ายเรือ แกล้งทำเป็นตาย ลองดูว่าถ้าตายแล้วจะเป็นอย่างไร ท่านก็นอนคิดว่าตัวเองตายอย่างนั้นจนเผลอสติไปสักครู่หนึ่ง เมื่อได้สติรู้สึกตัวก็รีบลุกขึ้นจุดธูปอธิษฐานจิตว่า “ขออย่าให้เราตายเสียก่อน ขอให้ได้บวชเสียก่อนเถิด ถ้าบวชแล้วไม่สึกตลอดชีวิต” นับจากวันนั้น คำอธิษฐานยังคงฝังแน่นอยู่ในใจของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯตลอดมา ความคิดที่จะบวชตลอดชีวิตยังชัดเจนอยู่ในใจ แต่ด้วยภาระที่ต้องเลี้ยงโยมแม่ ทำให้ยังไม่สามารถบวชได้
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงตั้งใจทำมาหากิน และขยันเก็บเงินเก็บทองจนมีเงินเก็บได้มากพอสมควร ที่ทำให้โยมแม่และพี่น้องมีเงินทองใช้จ่ายอย่างสะดวกสบายไม่ลำบากในอนาคต เมื่อหมดภาระเรื่องเงินทองแล้ว จึงตัดสินใจบวชทันที ในขณะนั้นท่านอายุย่าง 22 ปี พอถึงเดือน 8 ข้างขึ้น หลังจากขนข้าวลงเรือจนเต็มลำแล้ว ก็ให้ลูกน้องนำข้าวไปขายให้โรงสีในกรุงเทพฯ ส่วนตัวท่านก็เข้าวัดเป็นนาค เพื่อเตรียมตัวบวชที่วัด โดยมีพระปลัดยัง2 เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้องในขณะนั้น เป็นผู้สอนท่องคำขออุปสมบท ซักซ้อมพิธีอุปสมบทและสอนพระวินัยให้ เมื่อถึงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2499 พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับฉายาว่า “จนฺทสโร” โดยมี พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ด้วยความที่เป็นผู้มีความทรงจำดี พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจึงสามารถท่องบทสวดมนต์และพระปาฏิโมกข์ได้หมด สำหรับการศึกษาในช่วงพรรษาแรก ท่านได้เรียนคันถธุระและวิปัสสนาธุระควบคู่กันไป เมื่อเรียนด้านคันถธุระไปได้ระยะหนึ่ง ท่านก็สงสัยว่า คำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” แปลว่าอะไร ด้วยความสงสัยที่ผุดขึ้นมาในใจเหมือนกับปริศนาที่ต้องตอบให้ได้ ท่านมีความรู้สึกว่า คำๆนี้มีความหมายสำคัญต่อตัวท่าน จึงไปถามพระภิกษุที่อยู่ในวัด เมื่อถามใครก็ไม่มีใครรู้คำแปล มีพระรูปหนึ่งบอกว่า “เขาไม่แปลกันหรอกคุณ อยากรู้ก็ต้องไปเรียนที่บางกอก” เมื่อได้ฟังดังนั้น ทำให้ท่านเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพราะต้องการจะรู้คำแปลให้ได้ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง เป็นเวลา 1 พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
- 1 คลอบางอีแท่น มีชื่อทางราชการว่า คลองลัดบางแท่น อยู่ในเขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
- 2 นายสำรวย มีแก้วน้อย
อ้างอิง:
- ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์ (GL 305) Dhammakaya Open University, California, USA
- รายการไปวัดไปวา ออกอากาศทาง DMC (เครือข่ายโทรทัศน์ของวัดพระธรรมกาย)
บทความที่เกี่ยวข้อง: