อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถือเป็นก้าวแรกของการสถาปนาอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ณ แผ่นดินรูปดอกบัว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้พร้อมใจกันน้อมถวายที่ดินอันเป็นแผ่นดินบ้านเกิดของท่าน แด่พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อสร้างอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญ 1 ใน 6 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ บนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์
นับแต่นั้นเป็นต้นมา การดำเนินงานการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
- วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2547 (วันคล้ายวันเกิด ครบ 120 ปีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ) บรรดาศิษยานุศิษย์นำโดยพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้จัดพิธีหล่อรูปเหมือนพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ขนาด 1 เท่าครึ่ง ด้วยทองคำบริสุทธิ์ เพื่อจะอัญเชิญไปประดิษฐานในอนุสรณ์สถาน ณ แผ่นดินบ้านเกิดของท่าน
- วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2549 (วันคล้ายวันเกิด ครบ 122 ปีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ) พิธีวางมณีบรมจักรพรรดิ โดยถือเป็นปฐมเริ่มในการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
- วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 พิธีตอกเสาเข็มต้นแรก อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
- วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 พิธีตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
- วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2550 (วันคล้ายวันเกิด ครบ 123 ปีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ) พิธีประดิษฐานดวงแก้วมณีบรมจักรพรรดิ และพิธีครอบเสามงคล รอบเสาไม้เรือนเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ
- วันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2553 (วันครูวิชชาธรรมกาย) บรรดาศิษยานุศิษย์ตลอดจนลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯทั่วโลก ต่างพร้อมเพรียงกันประกอบพิธีอัญเชิญรูปเหมือนทองคำ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ ก่อนที่จะอัญเชิญท่านไปประดิษฐาน ณ อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ที่สร้างเสร็จแล้ว ณ แผ่นดินรูปดอกบัว อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
- วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2553 สาธุชนผู้มีบุญทั้งหลายต่างร่วมใจกัน ปิดแผ่นทองยอดมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย
- ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2553 (วันคล้ายวันเกิด ครบ 126 ปีของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ) พิธีแห่งประวัติศาสตร์ สถาปนาอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี
ปฐมวัย พระผู้ปราบมาร
พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีชื่อเดิมว่า “สด มีแก้วน้อย” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2427 ตรงกับวันแรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก ณ หมู่บ้านเหนือ ฝั่งตรงข้ามวัดสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โยมพ่อชื่อ เงิน แซ่จิ๋ว โยมแม่ชื่อ สุดใจ มีแก้วน้อย ครอบครัวของท่านเป็นคหบดี ทำการค้าในคลองสองพี่น้อง และอำเภอใกล้เคียง ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา รวม 5 คน คือ
- นางดา เจริญเรือง
- พระมงคลเทพมุนี (สด มีแก้วน้อย)
- นายใส มีแก้วน้อย
- เด็กชายผูก มีแก้วน้อย (เสียชีวิตเมื่ออายุ 1 ขวบ)
- นายสำรวย มีแก้วน้อย
เมื่อแรกเกิดมีความอดทนเป็นเลิศ
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯเล่าเรื่องในวัยเด็กของท่านว่า โยมแม่บอกว่าตอนเกิด ท่านไม่ร้องสักแอะ ไม่เหมือนกับเด็กทั่วไปที่เมื่อแรกเกิดต้องร้องทุกคน บางคนเชื่อว่าเด็กเกิดมาไม่ร้อง ต้องเป็นใบ้แน่ๆ แต่เมื่อถึงกำหนดอายุที่จะพูด ท่านก็พูดได้เป็นปกติ การที่ท่านไม่ร้องเมื่อแรกเกิดไม่ได้แสดงว่าท่านจะเป็นใบ้ แต่แสดงถึงคุณลักษณะประการหนึ่งของผู้ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ของชาวโลกในวันข้างหน้า คือ ความอดทน การเกิดนั้นเป็นทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ยากที่ใครจะอดทนได้ เป็นความทุกข์ทรมานขนาดที่ทำให้ทารกแรกเกิดลืมเหตุการณ์ในภพชาติก่อนๆของตนได้หมดสิ้นทีเดียว ทารกเมื่อแรกปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น ต้องอยู่ที่คับแคบมาก ใต้กระเพาะอาหาร เหนือลำไส้ ท่ามกลางหน้าท้องและกระดูกสันหลัง อยู่ในที่มืดสนิท จะขยับเคลื่อนไหวกาย คู้หรือเหยียดอวัยวะก็ทำไม่ได้ ต้องนอนคุดคู้อยู่ในครรภ์มารดา ทนทุกข์ทรมานตลอด 10 เดือน1 แม้จะพบกับความทุกข์ถึงขนาดนั้น ท่านก็ยังมีขันติอดทน ทั้งนี้เพราะบุญบารมีที่ท่านได้สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน
สอนตัวเองได้ตั้งแต่เล็ก
สมัยที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯยังเป็นเด็กเล็กๆ ช่วงที่ยังไม่อดนม ก่อนที่โยมแม่จะออกไปขายข้าวนอกบ้าน จะเอาท่านใส่เปลไว้ที่บ้าน แล้วเอาข้าวเย็นปั้นเป็นก้อนให้ท่านดูดเล่นแก้หิว ในขณะนั้นท่านรู้เรื่องโดยตลอด และได้สอนตัวเองว่า “ตอนนี้เราอย่าเพิ่งหิวเลยนะ อย่าเพิ่งไปกวนแม่เลย ดูดข้าวก้อนนี้แทนข้าวเย็นไปก่อน” ท่านสอนตัวเองได้ตั้งแต่ยังไม่อดนม การสอนตัวเองได้ ก็เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ คอยอบรมสั่งสอนผู้อื่นอีกประการหนึ่ง
ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์
ในช่วงวัยเด็ก พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯเป็นเด็กน่ารัก ไปบ้านไหนมักจะมีคนมาขออุ้ม อุ้มแล้วก็หอมแก้มท่านเล่น เวลาถูกหอมแก้มทีไร ท่านสะดุ้งทุกที ท่านไม่ต้องการให้ผู้หญิงถูกเนื้อต้องตัวตั้งแต่ยังเด็ก และคอยระวังอยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่าท่านไม่มีความยินดีในเพศตรงข้ามตั้งแต่เยาว์วัย และมีอุปนิสัยยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์มาข้ามภพข้ามชาติ
มีใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯเป็นผู้มีใจคอเด็ดเดี่ยวมั่นคง เมื่อตั้งใจทำอะไรแล้ว จะพยายามทำให้สำเร็จ ถ้ายังไม่สำเร็จจะไม่ยอมเลิกเด็ดขาด ตั้งแต่สมัยที่บ้านของท่านยังทำนาและค้าข้าว ท่านมักจะช่วยโยมพ่อโยมแม่เลี้ยงวัว เมื่อวัวพลัดหลงไปในฝูงวัวของคนอื่น ท่านจะไปตามวัวกลับมาจนได้ ไม่ว่าวัวจะหลงไปทางไหน หรือจะต้องตามจนมืดค่ำเพียงใด ถ้าไม่ได้วัวมา จะไม่ยอมกลับ
ตั้งมั่นในพระรัตนตรัย
ปกติพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจะช่วยโยมพ่อพายเรือค้าข้าว วันหนึ่งพอผ่านไปถึงหน้าศาลเจ้าที่ใครๆก็ว่าเฮี้ยนมาก ใครผ่านไปจะต้องเอาของไปเซ่นไหว้ แต่ท่านกลับคิดว่า “นี่ไม่ใช่พระรัตนตรัย ทำไมต้องไหว้ เราไม่เซ่น เราไม่ไหว้” วันหนึ่งเมื่อเรือผ่านศาลเจ้า ท่านรู้สึกแน่นท้องขึ้นมาทันที แต่ท่านก็อดทนไม่ยอมแพ้ เพราะคิดว่า “มันของเราแท้ๆนี่ เรื่องอะไรจะต้องเอาไปเซ่น เอาไปไหว้ ทำแล้วก็ไม่ได้บุญ บีบได้บีบไป จุกได้จุกไป เดี๋ยวมันก็หายจุก” ซึ่งครั้งนั้นท่านมีความคิดว่า สักวันหนึ่งข้างหน้าถ้าเข้าถึงพระรัตนตรัย จะกลับไปที่ศาลเจ้านั้น ทั้งๆที่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าพระรัตนตรัยเข้าถึงได้อย่างไร แต่จิตใต้สำนึกของท่านบอกอย่างนี้
มีเมตตา
โยมพี่สาว2 ของท่านเล่าว่า ตั้งแต่ท่านยังเป็นเด็ก เมื่อออกไปไถนา ท่านจะคอยสังเกตดวงตะวันว่า ใกล้เวลาเพลแล้วหรือยัง เมื่อพี่สาวของท่านเห็นก็จะตำหนิท่านว่า เกียจคร้าน คอยดูแต่ว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาเลิกงาน แต่ความจริงแล้วท่านถือคติของคนโบราณที่ว่า การไถนาจนถึงเวลาตีกลองเพล (11.00 น.) ซึ่งเรียกว่า “เพลคาบ่าวัว” ถือว่าบาปมาก ท่านจึงไม่อยากจะใช้แรงงานวัวจนเลยเพล นี่เป็นความเมตตาของท่านที่มีต่อสัตว์ หลังจากเลิกไถนาแล้ว ท่านจะนำวัวไปอาบน้ำจนเย็นสบาย แล้วจึงปล่อยให้ไปกินหญ้าเป็นอิสระตามใจชอบ ถ้าได้ทำอย่างนี้ท่านจะรู้สึกสบายใจ และมักจะร้องเพลงไปด้วย เนื้อหาของเพลงมักจะวนเวียนอยู่กับพระนิพพาน ดังนี้ “เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำจะเกิดมาทำอะไร อ้ายที่อยากมันก็หลอก อ้ายที่หยอกมันก็ลวง ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย เลิกอยากลาหยอก รีบออกจากกาม เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป เสร็จกิจสิบหก ไม่ตกกันดาร เรียกว่านิพพานก็ได้”
การศึกษาในวัยเด็ก
พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำงานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จนอายุได้ประมาณ 9 ปี โยมแม่ได้ส่งท่านให้ไปเรียนหนังสือกับน้าชาย3 ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดสองพี่น้อง เริ่มต้นเรียนจากหนังสือ ปฐม ก กา ตามหลักสูตรการศึกษาในสมัยนั้น ต่อมาไม่นานพระน้าชายได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหัวโพธิ์ ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง ท่านได้ตามไปเรียนหนังสือต่อที่นั่นด้วยประมาณ 7-8 เดือน จากนั้นพระน้าชายก็ย้ายไปจำพรรษาที่วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี แล้วจึงลาสิกขา ส่วนท่านไปเรียนต่อที่วัดบางปลา4 อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กับพระอาจารย์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นท่านอายุได้ 11 ปี นอกจากท่านจะเขียนอักษรขอมได้แล้ว ยังสามารถอ่านหนังสือพระมาลัย5 ซึ่งเขียนเป็นอักษรขอมได้คล่อง ท่านตั้งใจเรียนและมีผลการเรียนดี เพราะเป็นคนมีนิสัยทำอะไรทำจริงมาตั้งแต่เล็กๆ ท่านใช้เวลาเรียนอยู่ที่นั่น 2 ปี จึงกลับไปช่วยโยมพ่อโยมแม่ค้าข้าวที่บ้านเกิดตามเดิม
สืบสานมโนปณิธานพระผู้ปราบมาร
การสถาปนาอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี ณ แผ่นดินรูปดอกบัว แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ที่เริ่มต้นแผ่ขยายพระพุทธธรรมคำสอนไปสู่ชาวโลก โดยเฉพาะหลักการปฏิบัติที่จะทำให้มวลมนุษย์เข้าถึงธรรม เข้าถึงความสุขที่แท้จริง ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติ ทั้งรู้และทั้งเห็นธรรม และเข้าถึงพระธรรมกายซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของทุกๆคน จนสามารถเป็นพยานแห่งการตรัสรู้ธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นสัจธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้โดยไม่จำกัดกาลสมัย
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้มุ่งมั่นสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก โดยสอนการปฏิบัติธรรมแนววิชชาธรรมกายให้แก่พระภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา และสาธุชนทั้งหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายท่านได้พบกับความสุขอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และอีกหลายท่านมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม มีโอกาสได้ศึกษาวิชชาธรรมกายที่ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป ผลการปฏิบัติธรรมของหลายๆท่าน ได้รับการนำเสนอต่อชาวโลกในรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ผ่านทางดีเอ็มซี (DMC)6 อยู่เป็นประจำ วิธีการปฏิบัติธรรมแนววิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ค้นพบนี้ ปัจจุบันกำลังแผ่ขยายไปทุกทวีปทั่วโลก ชาวต่างชาติ ต่างภาษา หรือแม้จะต่างศาสนา ต่างความเชื่อ หากได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักวิชชาแล้ว ต่างล้วนพบกับประสบการณ์ภายใน สามารถเข้าถึงความเป็นตัวของตัวเองที่แท้จริงได้ และพบกับความสุขภายในตนได้ จนกระทั่งก่อให้เกิดความปรารถนาอยากจะให้ชาวโลกทั้งหลายเข้าถึงประสบการณ์แห่งการปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับตน เมื่อการปฏิบัติธรรมเช่นนี้แผ่ขยายไปกว้างไกลเท่าใด สิ่งที่จะมีขึ้นในใจของทุกคนอย่างหนึ่งก็คือ ความเคารพเทิดทูน ความศรัทธา และความกตัญญูกตเวทิตาอย่างเปี่ยมล้นต่อพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และในที่สุดย่อมปรารถนาที่จะมาเห็นแผ่นดินบ้านเกิดของท่าน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นว่า บุคคลเช่นพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯนั้นมีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่ท่านค้นพบมีความประเสริฐจริง
ด้วยคุณธรรมอันเลิศและคุณวิเศษในตัวของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ เหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั่วโลกจึงพร้อมใจสถาปนาอนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ให้ยิ่งใหญ่งดงาม เป็นศรีสง่าแห่งแผ่นดิน และเป็นสิ่งบันดาลใจให้อนุชนรุ่นหลังที่จะเกิดตามมาในอนาคตอีกนานนับพันปีได้มาศึกษาและเรียนรู้การปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย ตลอดจนเกิดความรักหวงแหนในแผ่นดินไทย ที่จะยังคงมีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เป็นปิ่นนานาอารยประเทศ และเป็นศูนย์กลางแผ่ขยายสันติสุขอันไพบูลย์แห่งการเข้าถึงธรรมภายใน ไปสู่โลกอนาคตอีกยาวนาน ตราบนิรันดร์
- 1วิสุทธิมรรคแปล ภาค 3 ตอน 1 มก.
- 2 นางดา เจริญเรือง
- 3 น้าชายของท่านชื่อ นะ มีแก้วน้อย
- 4 เหตุที่ท่านไปเรียนที่วัดบางปลา เพราะบ้านเกิดโยมพ่อของท่านอยู่ที่บางปลา
- 5 หนังสือพระมาลัย เป็นเรื่องราวของพระอรหันต์องค์หนึ่ง ได้ขึ้นไปบนสวรรค์และลงไปโปรดสัตว์ในนรก เมื่อกลับมายังโลกมนุษย์ จึงเทศน์สั่งสอนประชาชนให้ละชั่วกลัวบาป หมั่นทำบุญให้ทาน
- 6 ดีเอ็มซี (DMC) เป็นเครือข่ายโทรทัศน์ของวัดพระธรรมกาย
อ้างอิง:
- 126 ปี พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) “วันแห่งการแสดงความกัตญญูแด่พระผู้ปราบมาร” โดย พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล (วารสารอยู่ในบุญ)
- ปฏิปทามหาปูชนียาจารย์ (GL 305) Dhammakaya Open University, California, USA
บทความที่เกี่ยวข้อง: