บวชเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
“ประเพณีการบวช” เป็นวัฒนธรรมชาวพุทธที่สืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน บรรพบุรุษของไทยให้ความสำคัญในเรื่องการบวชเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกผู้ชายต้องปฏิบัติ ในครอบครัวชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อบุตรชายมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือที่เรียกว่า “อายุครบบวช” บิดามารดาก็จะจัดการบวชให้ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 พรรษา หลังจากลาสิกขาแล้ว จึงค่อยทำมาหาเลี้ยงชีพ บ้างก็แต่งงานมีครอบครัว ดำเนินชีวิตตามวิถีชาวพุทธที่ดีต่อไปแม้บางคนจะไม่ได้บวชในช่วงอายุดังกล่าว แต่อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตก็จะต้องบวช เพื่อทดแทนคุณบิดามารดา จนมีคำพูดที่กล่าวกันว่า “พ่อแม่จะได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสวรรค์”
ครั้นเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน “ประเพณีการบวช” ค่อยๆจางหายไปจากสังคมไทย เริ่มจากระยะเวลาในการบวชเริ่มสั้นลง เหลือแค่ 15 วันบ้าง หรือ 7 วันบ้าง ทำให้ผู้บวชไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ รวมถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนบางครั้งผู้ที่ผ่านการบวชมาแล้ว กลับคิดว่า “บวชแล้วไม่ได้อะไร” นอกจากนี้ ชายไทยที่นับถือศาสนาพุทธบางคนไม่เคยบวชเลยก็มี จำนวนพระสงฆ์ในประเทศไทยเริ่มลดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งทำให้วัดบางแห่งพระภิกษุเหลือน้อย วัดบางแห่งไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลย และกลายสภาพเป็นวัดร้างไปในที่สุด เมื่อวัดร้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พระพุทธศาสนาก็เริ่มสั่นคลอน ชาวพุทธขาดแคลนพระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ และเป็นผู้ถ่ายทอดคำสอนอันทรงคุณค่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนเข้าวัดน้อยลง, ทำบุญ ตักบาตร น้อยลงไปเรื่อยๆ
พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นห่วงสถานการณ์วัดร้างที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านมุ่งมั่นที่จะทำให้วัดร้างหมดไปจากประเทศไทยให้จงได้ ถึงแม้ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายได้จัดพิธีอุปสมบทหมู่เป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง ที่เรียกกันจนติดปากว่า “อบรมพระธรรมทายาท” ไม่ว่าจะเป็นการอบรมพระธรรมทายาท ภาคฤดูร้อน, อบรมพระธรรมทายาท รุ่นบูชาธรรมพระเทพญาณมหามุนี รวมไปถึงอบรมพระธรรมทายาท นานาชาติ แต่ลำพังเพียงโครงการอุปสมบทหมู่ที่จัดขึ้นดังกล่าวมาแล้วนี้ คงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขสถานการณ์วัดร้างที่เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงได้ดำริให้จัดโครงการอุปสมบทหมู่ทั่วประเทศขึ้น เพื่อปลุกกระแส “ประเพณีการบวช” ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดขึ้นในลักษณะเป็นโครงการอบรม ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ว่า ผู้บวชหรือผู้เข้ารับการอบรมไม่เสียค่าใช้จ่ายในการบวช, บวชเพื่อฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นพระแท้, มีพระอาจารย์ และพระพี่เลี้ยง คอยดูแลประคับประคองผู้เข้ารับการอบรม ให้ได้ฝึกฝนตนเองอยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด แต่ไม่เคร่งเครียด และที่สำคัญผู้เข้ารับการอบรมจะต้องได้ปฏิบัติธรรม (นั่งสมาธิ) อย่างเต็มที่ เพื่อที่เมื่อครบกำหนดการอบรมแล้ว ผู้ผ่านการอบรมทุกคนสามารถนำคำสอนในพระพุทธศาสนา และสิ่งต่างๆที่ได้เรียนรู้จากการบวช ไปใช้ในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เป็นคนดีของครอบครัว ของสังคม ของประเทศชาติ และของโลก
- โครงการอุปสมบทหมู่ 7,000 รูป 7,000 ตำบลทั่วไทย ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่อง จึงได้เกิดขึ้น โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - วันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2552 รวมระยะเวลา 21 วัน ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้สมัครบวชในโครงการนี้กว่าหมื่นคน ถือได้ว่าโครงการอุปสมบทหมู่ในครั้งนี้ สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ
- เพื่อให้งานฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นปี พ.ศ.2553 พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงดำริให้จัด โครงการอุปสมบทหมู่ 100,000 รูป ถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 มกราคม - วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2553 รวมระยะเวลา 49 วัน มีวัดที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 300 วัดทั่วประเทศ
- ในช่วงเข้าพรรษา ได้จัด โครงการอุปสมบทหมู่ เข้าพรรษา 100,000 รูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม - วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 รวมระยะเวลา 112 วัน พิธีบรรพชาได้จัดขึ้น ณ วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ภาพของผู้บวชในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ที่เนืองแน่นรอบลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ ในอิริยาบถที่สงบเสงี่ยมสง่างาม ยังคงติดตาตรึงใจ สร้างความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และความปลื้มปีติให้แก่ผู้บวช และญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้ร่วมงาน มาจนถึงทุกวันนี้
โครงการอุปสมบทหมู่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย พ.ศ.2554: วันที่ 13 มีนาคม - วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2554 (49 วัน)
- อุปสมบทหมู่ เข้าพรรษา หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย พ.ศ.2554: วันที่ 29 มิถุนายน - วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 (132 วัน)
- อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย พ.ศ.2555: วันที่ 22 มีนาคม - วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2555 (53 วัน)
- อุปสมบทหมู่ เข้าพรรษา หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย พ.ศ.2555: วันที่ 8 กรกฎาคม - 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 (120 วัน)
- อุปสมบทหมู่ ภาคฤดูร้อน หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย พ.ศ.2556: วันที่ 11 มีนาคม - 2 พฤษภาคม พ.ศ.2556 (53 วัน)
- อุปสมบทหมู่ เข้าพรรษา หนึ่งแสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทย พ.ศ.2556: วันที่ 4 กรกฎาคม - 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 (124 วัน)
แต่ละโครงการประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โครงการอุปสมบทหมู่ทั่วประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการว่า “อุปสมบทหมู่หนึ่งแสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย” มีผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่
- คณะสงฆ์ทั้งแผ่นดิน
- คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
- วัดพระธรรมกาย และมูลนิธิธรรมกาย
- สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย
- ชมรมพุทธศาสตร์สากล ในอุปถัมภ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
นอกจากผู้บวชในแต่ละโครงการจะได้ฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อเป็นพระแท้, ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่แล้ว ผู้บวชยังได้ร่วมโครงการ “ธุดงค์ธรรมชัย” เพื่อเดินธุดงค์ไปพัฒนาวัดร้างที่ขาดการดูแล มีสภาพที่ทรุดโทรม ให้กลับคืนมาเป็นวัดรุ่ง แลดูงดงาม เป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่คนทั่วไป การเดินธุดงค์ธรรมชัย นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะนอกจากจะพัฒนาวัดร้างให้กลับคืนมาเป็นวัดรุ่ง และสร้างศรัทธาของชาวพุทธในพื้นที่ให้กลับคืนมาแล้ว ยังทำให้มีพระภิกษุผู้เข้ารับการอบรมตัดสินใจที่จะบวชต่อ เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาหลายต่อหลายรูป บางรูปอยู่เพื่อฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อเป็นพระพี่เลี้ยง ดูแลผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นต่อๆไป บางรูปขออยู่ประจำ ณ วัดร้างที่ได้ไปทำการพัฒนาให้เป็นวัดรุ่ง ส่งผลให้อดีตวัดร้างหลายแห่งมีพระภิกษุอยู่จำพรรษามากขึ้น บางวัดมากจนสามารถรับกฐินได้ (วัดที่จะรับกฐินได้ต้องมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาไม่น้อยกว่า 5 รูป) เมื่อวัดใดสามารถรับกฐินได้ ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะรับปัจจัยเพื่อนำไปใช้การพัฒนาวัดให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
ตราบใดที่วัดร้างยังคงมีอยู่ในประเทศไทย พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ก็จะไม่หยุดยั้งที่จะผลักดันโครงการต่างๆเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา อาทิ โครงการอุปสมบทหมู่หนึ่งแสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย, โครงการธุดงค์ธรรมชัย, โครงการกฐินสัมฤทธิ์, โครงการตักบาตรพระ 2 ล้านรูป 77 จังหวัด ทุกวัดทั่วไทย เพื่อให้พระพุทธศาสนาคงอยู่เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตที่ถูกต้องให้แก่ชาวไทย และชาวโลก สืบไปตราบนานเท่านาน
บทความที่เกี่ยวข้อง: