พระผู้ปราบมาร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชื่อว่า "พระผู้ชนะมาร" คำว่า “มาร” ที่ทราบกันโดยทั่วไปคือ มาร ๕ ฝูง ได้แก่ ก.ท.ม.ข.อ. หรือ กิเลสมาร เทวบุตรมาร มัจจุมาร ขันธมาร และอภิสังขารมาร เมื่อพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ชื่อว่า ชนะกิเลสมารในใจได้แล้ว จากนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเทศน์สอนสัตว์โลก ตลอดช่วง ๔๕ พรรษานั้นได้รับการเบียดเบียนจากทั้งเทวบุตรมาร (ชาวบ้านและอมนุษย์) ที่ว่าร้ายหรือดักทำร้ายพระองค์บ้าง จากขันธมารที่ทำให้ทรงมีพระอาการเจ็บป่วยพระวรกายบ้าง จากอภิสังขารมารที่มาจากวิบากกรรมในอดีตทั้งหลายเบียดเบียนบ้าง และในที่สุดจากมัจจุมารที่ต้องดับขันธ์ ๕ เข้าสู่อายตนนิพพานแทนที่จะอยู่ได้เป็นกัปเพื่อสอนสัตว์โลก
พระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านมุ่งมั่นปฏิบัติธรรมจนกระทั่งได้เข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว ได้ไปรู้ไปเห็นว่า นอกจากมาร ๕ ฝูงที่คอยเบียดเบียนสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้ว ยังมีเบื้องหลังที่เป็น “ฉากหลัง” ที่เป็นต้นเหตุของมาร ๕ ฝูงนี้ จึงเป็นความปรารถนาของท่านที่จะปราบมารทั้ง ๕ ฝูงและฉากหลังให้หมดไป ศิษยานุศิษย์จึงได้ถวายนามท่านว่า “พระผู้ปราบมาร”
ตั้งใจบวชตลอดชีวิต
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ฉายา จนฺทสโร หมายถึง ผู้นำแสงสว่างมาสู่โลก ประดุจพระจันทร์ส่องสว่างยามราตรี ท่านเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีนามตามสัญญาบัตรประกอบพัดยศสมณศักดิ์ว่า พระมงคลเทพมุนี ศรีรัตนปฏิบัติ สมาธิวัตรสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี ศิษยานุศิษย์ได้กล่าวนามด้วยความเคารพว่า "หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ"
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เดิมชื่อ สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ในสมัยรัชการที่ ๕ ณ ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายเงินและนางสุดใจ มีแก้วน้อย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน เมื่อบิดาได้ถึงแก่กรรมจึงรับภาระดูแลการค้าแทน วันหนึ่ง ท่านนำเรือกลับจากการขายข้าวผ่าน คลองบางอีแท่น ซึ่งได้ชื่อว่ามีโจรผู้ร้ายชุกชุมท่านนึกถึงความตายขึ้นมา ท่านพิจารณาว่า "การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบากบิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น… บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกันจนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกันเราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า" ท่านได้อธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า "ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลยขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต" ท่านเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี จึงเร่งทำงานสะสมทรัพย์ เพื่อให้มารดาเอาไว้ใช้เลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต
อุปสมบทแล้วรุ่งขึ้นลงมือปฏิบัติทันที
เดือนกรกฎาคมพ.ศ.๒๔๔๙ ท่านได้อุปสมบท เวลานั้นอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ วัดสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรีมีฉายาว่า จนฺทสโร พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วพอรุ่งขึ้นอีกวัน ท่านก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในขณะเดียวกันได้เริ่มเรียนคันถธุระไปด้วย ท่านมีข้อสงสัยอยากรู้ความหมายคำว่าอวิชฺชาปจฺจยา ซึ่งไม่มีใครทราบ เมื่อออกพรรษาจึงเดินทางมาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเพื่อศึกษาด้านคันถธุระเมื่อถึงวันพระขึ้น ๘ ค่ำ และขึ้น ๑๕ ค่ำ ท่านก็มักไปหาพระอาจารย์สอนฝ่ายปฏิบัติสมถะวิปัสสนาผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักต่างๆ อาทิ ท่านเจ้าคุณสังวรานุวงษ์ (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม(วัดพลับ), ท่านพระครูญาณวิรัติ (โป๊) วัดพระเชตุพน, สำนักของพระอาจารย์สิงห์วัดละครทำ รวมทั้งศึกษาจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ มีมูลกัจจายน์ ธรรมบททีปนี และสารสังคหะ เป็นต้น ต่อมาในพรรษาที่ ๑๑ จึงได้กราบลาท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ เพื่อไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อหลีกเร้นปฏิบัติธรรม
เข้าถึงธรรมกายด้วยความเพียร
กลางพรรษาที่ ๑๒ ณ วัดโบสถ์บนต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ท่านได้มีความคิดที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่เพราะหวนระลึกขึ้นว่า “ในเมื่อเราตั้งใจจริงๆในการบวช จำเดิมอายุ ๑๙ เราได้ปฏิญาณตนบวชจนตายขออย่าให้ได้ตายในระหว่างทางก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง ๑๕ พรรษาย่างเข้าพรรษานี้แล้วบัดนี้ของจริง (ธรรมะ) ที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ ท่านเห็นเราก็ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง”
เมื่อกลับจากบิณฑบาตเสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถโดยตั้งใจว่า หากไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ ขณะนั้นเวลาประมาณ ๒ โมงเช้าเศษๆท่านเริ่มทำความเพียรทางใจหลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไป ในที่สุดจิตก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อยๆ แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกันเห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ (ดวงปฐมมรรค/ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ติดอยู่ที่ "ศูนย์กลางกาย" เป็นเหตุให้ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูกวันนั้นท่านมีความสุขทั้งวัน ดวงธรรมขั้นต้นซึ่งเป็นดวงใสสว่างก็ยังเห็นติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายไม่ขาดท่านได้รำพึงว่า “ความสว่างเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนเลยในชีวิตของการบำเพ็ญธรรม เราไม่เคยเห็นความสว่างใดจะเทียบเท่าได้ความสว่างแห่งดวงอาทิตย์ก็ยังห่างไกล เท่าที่เห็นอุปมาเหมือนแสงหิ่งห้อยกับโคมไฟ"ทำให้ท่านหวนระลึกถึงพระพุทธวจนะบทหนึ่งที่ว่า "นตฺถิ สนฺติ ปรํสุขํ" แปลว่า สุขอื่นนอกจากความสงบไม่มี เมื่อใจหยุดก็เกิดความสงบ เมื่อสงบจิตย่อมเป็นสุขและได้ตั้งใจว่า "วันนี้เป็นไงเป็นกันหากเราไม่บรรลุธรรมที่พระบรมไตรโลกนาถได้ทรงบรรลุล่ะก็ เราจะถวายชีวิตเป็นพุทธบูชาหากเราจะต้องตายไปในครั้งนี้ ก็จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้ที่จะตามมาภายหลัง จะได้ยึดถือเป็นแบบปฏิบัติต่อไปก็จะได้อานิสงส์อีกโสดหนึ่ง"
เย็นวันนั้นภายหลังจากที่ท่านลงพระปาฏิโมกข์แล้ว ท่านจึงรีบทำภารกิจส่วนตัว จากนั้น จึงเข้าไปในพระอุโบสถแต่เพียงรูปเดียวเมื่อกราบพระประธานแล้ว จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงบรรลุแล้วแด่ข้าพระพุทธเจ้าถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว จักเกิดโทษแก่พระศาสนาของพระองค์ ขอพระองค์อย่าได้ทรงพระราชทานเลย ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแด่ข้าพระองค์ข้าพระองค์จะขอรับเป็นทนายในพระศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต”
เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้วท่านก็เริ่มนั่งหลับตาเจริญกัมมัฏฐานต่อไปประมาณครึ่งหรือค่อนคืน ก็เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า (ธรรมกายโคตรภู) ในระหว่างมัชฌิมยามกับปัจฉิมยามติดต่อกัน ท่านได้รำพึงขึ้นในใจว่า "คมฺภีร์ โรจายํธรรมเป็นของลึกซึ้งถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัย ของความตรึก นึกคิด ถ้ายังตรึก นึก คิด อยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าให้ถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึก รู้คิด นั้นหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ก็ไม่มี ไม่เป็นเด็ดขาด"
รำพึงอย่างนี้สักครู่ใหญ่เกรงว่าความมีความเป็นนั้นจะเลือนไปเสียจึงเข้าที่ ดำรงสมาธิมั่น ต่อไปตลอดปัจฉิมยามในขณะดำรงสมาธิมั่น อยู่อย่างนั้น เห็นวัดบางปลา ปรากฏขึ้นในนิมิตจึงเกิดญาณทัสสนะขึ้นอยู่ว่า ธรรมที่รู้ว่าได้ยากนั้น ในวัดบางปลานี้จะต้องมีผู้รู้เห็นได้อย่างแน่นอน ออกพรรษาแล้วได้ไปสอนที่วัดบางปลาราว ๔ เดือน มีพระทำเป็น (ได้เข้าถึงธรรมกาย) ๓ รูป คือ พระสังวาลย์ พระแบน และพระอ่วม กับคฤหัสถ์ ๔ คน นับแต่นั้นมาหลวงพ่อฯ ก็เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่คนเคารพรู้จักและยกย่องบูชากันทั่วไป
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ นิพนธ์ “ธรรมกายนั้นให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติ”
คำว่า "ธรรมกาย"นี้ มีพระบาลีรับรองมากมาย ปรากฏเช่นใน อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่า “ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐ เอตํ ธมฺมกาโยติวจนํ … ดูกร! วาเสฏฐะ ธรรมกายนี้เป็นชื่อของพระตถาคต”
“ตถาคตสฺส เหตํ วาเสฏฺฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโยอิติปิ พฺรหฺมกาโย อิติปิ ธมฺมภูโต อิติปิ พฺรหฺมภูโต อิติปิฯ …. ดูกร! วาเสฏฐะและภารทวาชะ คำว่าธรรมกายก็ดีพรหมกายก็ดี ว่าธรรมภูตก็ดี ว่าพรหมภูตก็ดี เป็นชื่อของพระตถาคต”
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงพระนิพนธ์ประวัติของหลวงปู่วัดปากน้ำและคำว่า “ธรรมกาย” ไว้ ยกมาพอสังเขป ดังนี้
“หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทษเช่นนี้ (โลภ โกรธ หลง) มีปฏิปทาเดินสายกลาง ไม่ห่วงในลาภสักการะเพื่อตน แต่ขวนขวายเพื่อส่วนรวม กิจการนิมนต์ทางไกลถึงกับค้างคืนแล้วท่านรับนิมนต์น้อยนักโดยท่านเคยแจ้งว่าเสียเวลาอบรมผู้ปฏิบัติ ท่านมีความมุ่งหมายใช้ความเพียรติดต่อกันทุกวันชีวิตไม่พอแก่การปฏิบัติ ... การปฏิบัติของคณะกัมมัฏฐานวัดปากน้ำ ย่อมเป็นไปตามระเบียบที่หลวงพ่อได้วางไว้...ธรรมกายของวัดปากน้ำแพร่ปรากฏไปแทบทุกจังหวัด ยิ่งกว่านั้นยังไปแสดงธรรมานุภาพยังภาคพื้นยุโรปด้วย …ธรรมกายนั้นให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเป็นมหัศจรรย์จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ภิกษุหรือสามเณร เมื่อได้ปฏิบัติถึงขั้นก็ได้ธรรมกายเหมือนกัน หลวงพ่อชอบพูดแก่ใครๆว่า เด็กคนนั้นได้ธรรมกายและชอบยกเด็ก ๆ ขึ้นอ้าง ลักษณะนี้เป็นอุบายวิธีให้ผู้ใหญ่สนใจด้วย.. อาจเกิดอุตสาหะในการปฏิบัติธรรม...”
๑๐ ตุลาคม ครบ ๑๒๗ ปีหลวงปู่วัดปากน้ำ
ในวันที่ ๑๐ ตุลาคมของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดด้วยรูปกายของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษเจริญ เพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านศิษยานุศิษย์ได้สร้างรูปเหมือนทองคำของท่านเพื่อประดิษฐานในเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยท่านเพื่อเป็นหลักฐานในการเข้าถึงวิชชาธรรมกายให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและปฏิบัติตามดังนี้
๑.สถานที่เกิด อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สร้างอนุสรณ์สถาน ภายในมีชีวประวัติและรูปหล่อทองคำของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ
๒.วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สถานที่อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
๓.วัดโบสถ์ (บน) อ.บางคูเวียง จ.นนทบุรี สถานที่นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว
๔.วัดบางปลาอ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นสถานที่สอนสมาธิครั้งแรก มีพระภิกษุ ๓ รูปคฤหัสถ์ ๔ ท่านเข้าถึงพระธรรมกายภายในตัว
๕.วัดปากน้ำภาษีเจริญกรุงเทพฯ เป็นสถานที่เผยแผ่สอนการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายแก่พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาเป็นจำนวนมาก ก่อนท่านละสังขารได้สั่งศิษย์ของท่านไว้ว่า ไม่ต้องสลายร่างท่านให้เก็บร่างท่านไว้ ณ วัดปากน้ำ และช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
๖.วัดพระธรรมกายจ.ปทุมธานี ประดิษฐานรูปหล่อทองคำ ขนาด ๑ เท่าครึ่งขององค์จริง ณ มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี เพื่อให้สาธุชนกราบสักการะและปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก
ในวันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นวาระครบ ๑๒๗ ปี วันคล้ายวันเกิดหลวงปู่วัดปากน้ำ มีกิจกรรมปฏิบัติบูชาระหว่างเวลา ๐๖.๓๐-๑๙.๐๐ น. โดยช่วงเช้าเวลา ๐๖.๓๐ น. พิธีตักบาตรพระ ๑๒,๗๐๐ รูป ณ ณ ลานบุญทุ่งเฟื่องฟ้า บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ภาคบ่ายเวลา ๑๓.๓๐ น. ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ณ สภาธรรมกายสากล เวลา ๑๖.๔๕ น. พิธีอัญเชิญรูปหล่อทองคำ “พระผู้ปราบมาร”เวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ จึงขอเชิญศิษยานุศิษย์ทั่วโลกร่วมปฏิบัติธรรมและสั่งสมบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ คือ ทาน ศีล ภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาธรรมหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.๐๒-๘๓๑-๑๐๐๐ หรือ www.dhammakaya.net