จุดสิ้นสุด ณ จุดเริ่มต้น แห่งสันติภาพโลก
๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ วันแห่งชัยชนะ สร้างองค์พระ ปิดเจดีย์ ๑๖ ปี เส้นทางบุญอัศจรรย์ บนเส้นทางสู่ความสำเร็จมักจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม แต่บุคคลผู้เพียรพยายามอย่างอาจหาญ และมีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ ย่อมทำในสิ่งที่ใครๆคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้อย่างอัศจรรย์ ดังเช่น การสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ กว่า ๑๔ ปีที่ผ่านมา คือ ภาพประวัติศาสตร์อันงดงาม ที่จะประทับอยู่ในความทรงจำของผู้มีส่วนร่วมสถาปนาทุกท่านอย่างไม่มีวันลบเลือน....
๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ วันแห่งชัยชนะ สร้างองค์พระ ปิดเจดีย์
ธุดงค์กลั่นแผ่นดิน และพิธีกลั่นแผ่นดิน
๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๗ ถึง ๑ มกราคม ๒๕๓๗ ประวัติศาสตร์แห่งการเริ่มต้นสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ เมื่อสาธุชนผู้มีบุญจากทั่วทุกภาคของประเทศ ได้มาร่วมอยู่ธุดงค์ต้อนรับศักราชใหม่ และร่วมประกอบพิธีกลั่นแผ่นดิน ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาและร่วมสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัยพร้อมกัน ๑,๐๐๐,๐๐๐ จบอันเป็นการหลอมรวมพลังศรัทธาของพุทธบริษัท ๔ และอานุภาพอันไม่มีประมาณของพระรัตนตรัย เพื่อกลั่นแผ่นดินแห่งนี้ให้เป็นแผ่นดินแก้วอันสว่างไสว รองรับการบังเกิดขึ้นของเจดีย์แห่งพระรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ
พิธีโปรยทราย รองรับการสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์
วันอาสาฬบูชา ๑๑ กรกฏาคม ๒๕๓๘ ภาพของเจดีย์ทรายที่ถูกก่อขึ้นเป็นรูปทรงของมหาธรรมกายเจดีย์ รายล้อมด้วยเหล่าสาธุชนที่นั่งเจริญสมาธิภาวนากลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ นับเป็นภาพการสร้างบารมีที่งดงาม ตามแบบอย่างของบัญฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ที่ได้ก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อถึงเวลาสว่าง สาธุชนทุกท่านได้ร่วมพิธิโปรยทราย โดยการนำดินและทรายจากถิ่นฐานของตนมาโปรยลง ณ สถานที่ก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งเป็นการรวมดินและทรายจากทั่วประเทศมากลั่นให้ใสสว่าง อันเป็นสัญลักษณ์ว่าเมื่อมหาธรรมกายเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ จะนำความสว่างไสวให้บังเกิดขึ้นทั่วผืนแผ่นดินไทยอย่างแน่อน
พิธีตอกเสาเข็มต้นแรก
วันครูธรรมกาย ๘ กันยายน ๒๕๓๘ เสาเข็มต้นแรกของมหาธรรมกายเจดีย์ได้ถูกตอกลงบนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นการเริ่มต้นก่อสร้างฐานรากของมหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งต้องใช้เสาเข็มทั้งหมดถึง ๓,๓๓๓ ต้น เพื่อให้มหาธรรมกายเจดีย์มีความคงทนถาวร สามารถสถิตอยู่คู่โลกไปได้นานนับพันปี เสียงของปั่นจั่นที่ตอกลงบนเสาเข็มต้นแรก และเสียงตอกเสาเข็มจำลองของท่านเจ้าภาพผู้มีบุญที่อยู่รายรอบ ประดุจเสียงธรรมเภรีที่ถูกตีกระหน่ำ เพื่อประกาศให้มนุษย์และเทวดาทุกชั้นฟ้าได้มาร่วมอนุโมทนากับบุญอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
พิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวเป็นปฐมเริ่ม
วันวิสาขบูชา ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๙ วิสาขปุณณมี วันที่สว่างที่สุดในภพ ๓ เพราะเป็นวันแห่งการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ปรารถนาเหตุนี้ สร้างมหากุศลครั้งประวัติศาสตร์ ประกอบพิธีสักการะรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ประดิษฐาน ณ ศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก และประกอบพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวชุดแรกเป็นปฐมเริ่ม เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ ให้มหาชนได้กราบไหว้บูชาไปอีกนานนับพันปี
พิธีเทคอนกรีตฐานราก
๑ กันยายน ๒๕๓๙ ท่านเจ้าภาพผู้มีบุญและสาธุชนทุกเพศทุกวัยช่วยกันลำเลียงกระป๋องคอนกรีตเนื้อละเอียดพิเศษ ส่งต่อๆกันไป จากมือสู่มือจากใจสู่ใจ เพื่อนำไปเทฐานรากของมหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งแม้ว่าแสงแดดในยามบ่ายจะแผดกล้าสักเพียงใด แต่ทุกคนก็ยังคงเดินหน้าสร้างบารมีด้วยความปิติเบิกบาน ซึ่งภาพของ ๑ กระป๋อง ๒ มือนี้ ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของผู้มีบุญทุกท่าน เมื่อนึกถึงครั้งใดมหาปิติอันไม่มีประมาณก็จะพลันบังเกิดขึ้น ด้วยความภาคภูมิใจว่าเราคือหนึ่งในบุคคลประวัติศาสตร์ที่ไม่พลาดบุญใหญ่ในครั้งนี้
พิธีตอกเสาเข็มต้นสุดท้าย
วันครูธรรมกาย ๒๖ กันยายน ๒๕๓๙ เสาเข้มต้นสุดท้าย คือ เสาเข้มต้นที่ ๓,๓๓๓ อันเป็นเสาเข้มต้นสำคัญ ที่ผู้มีบุญได้ช่วยกันปิดแผ่นทองจนเหลืองอร่าม จนเป็นเสาเข้มทองคำต้นแรกของโลก ซึ่งผู้มีบุญหลายหมื่นคนได้ช่วยกันอัญเชิญเสาเข็มต้นนี้ด้วยเชือกมงคล จากสภาธรรมกายสากลหลังคาจาก จนกระทั่งมาถึงศูนย์กลางพิธี เมื่อถึงเวลาสว่าง เสาเข็มต้นสุดท้ายก็ได้ถูกตอกลงสู่ผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ เสียงปั่นจั่นดังก้องกังวาน ดังจะประกาศให้เทวดาทุกชั้นฟ้าได้รับรู้ว่า พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายกำลังหยั่งรากลงสู่จิตใจของชาวโลก อันจะเป็นทางมาของสันติสุขที่แท้จริงของโลกใบนี้
พิธีหล่อพระบรมพุทธเจ้า
วันมาฆบูชา ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ คลื่นมหาชนชุดขาวจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้หลั่งไหลมาร่วมพิธีหล่อพระบรมพุทธเจ้าด้วยเงินบริสุทธิ์หนัก ๑๔ ตันขนาดหน้าตัก๔.๕ เมตร ซึ่งเป็นพุทธปฏิมากรเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ทำการหล่อองค์พระบรมพุทธเจ้า สายตาทุกคู่ในสภาธรรมกายสากลต่างจับจองไปที่แท่นประกอบพิธี ที่รายล้อมด้วยดอกบัวสัตตบงกชขนาดใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์ของดอกไม้ต้นแรกของกัป ที่จะรองรับการบังเกิดขึ้นของพุทธปฏิมากรกายมหาบุรุษองค์นี้ ซึ่งเป็นพระประธานที่จะนำไปประดิษฐานภายในมหาธรรมกายเจดีย์ต่อไป
พิธีอันเชิญพระบรมพุทธเจ้า
ประดิษฐาน ณ มหาธรรมกายเจดีย์ วันมาฆบูชา ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ คณะสงฆ์นับพันรูป สามเณรแก้ว ๑๐,๐๐๐ รูป และสาธุชนนับแสนคนได้ร่วมขบวนอัญเชิญพระบรมพุทธเจ้าเวียนประทักษิณรอบมหาธรรมกายเจดีย์ พร้อมสวดสรรเสริญคุณของพระรัตนตรัย และพระบรมพุทธเจ้าดังกังวานไปทั่วพื้นที่ลานธรรม เมื่อถึงเวลาที่สว่างที่สุดของจักรวาลสายตานับแสนคู่ต่างจับจองไปที่พุทธปฏิมากร ต้นแบบกายมหาบุรุษอันสง่างามองค์นี้ ที่ถูกอัญเชิญขึ้นไปอย่างช้าๆ และเข้าไปประดิษฐานอยู่ภายในโดมของมหาธรรมกายเจดีย์ นับเป็นภาพอันน่าอัศจรรย์ที่ยังไม่เคยบังเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกใบนี้ ซึ่งจะประทับอยู่ในความทรงจำของผู้มีบุญทุกคนตลอดไป
พิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวทองคำจารึกชื่อ
“พระราชภาวนาวิสุทธิ์” วันคุ้มครองโลก ๒๒ เมษายน ๒๕๔๑ ในวาระครบรอบ ๕๔ ปี ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์(หลวงพ่อธัมมชโย) พระพ่อผู้นำการสร้างบารมีของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั่วโลก ในโอกาสนี้ จึงได้จัดให้มีพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวด้วยทองคำแท้และจารึกชื่อ “พระราชภาวนาวิสุทธิ์” เพื่อประดิษฐ์บนยอดโดมมหาธรรมกายเจดีย์เป็นองค์แรก ณ บริเวณหน้าอุโบสถวัดพระธรรมกาย ท่ามกลางสาธุชนผู้มีบุญที่เดินทางมาร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น หลายท่านได้ตัดใจถวายทองคำแท่งและทองรูปพรรณ ซึ่งเป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายในชีวิต เพื่อร่วมหล่อพระธรรมกายประจำตัวทองคำองค์นี้
พิธีประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัว บนยอดโดม
๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ สาธุชนนับแสนคนร่วมประกอบพิธีประดิษฐานองค์พระธรรมกายประจำตัวบนแผ่นแคลดดิงส่วนยอดโดม ณ สภาธรรมกายสากล เมื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์นำปฏิบัติธรรมกลั่นใจของทุกคนให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว คณะท่านเจ้าภาพได้นำองค์พระธรรมกายประจำตัวไปประดิษฐานที่แผ่นแคลดดิงโดยเริ่มต้นจากพระธรรมกายทองคำ จารึกชื่อ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ต่อด้วยพระธรรมกายทองสัมฤทธิ์จารึกชื่อท่านเจ้าภาพผู้มีบุญ ที่ประดิษฐานอยู่รายรอบ รวมทั้งสิ้น ๑๘ องค์ เพื่อนำไปประดิษฐานอย่างถาวรบนยอดโดมของมหาธรรมกายเจดีย์ต่อไป
พิธีอธิษฐานจิตเพื่อรวมพลังผู้นำบุญปิดองค์พระแกนกลาง
๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ และ ๖ กันยายน ๒๕๔๑ วันที่ ๓๐ สิงหาคม เหล่าผู้นำบุญได้ร่วมอธิษฐานจิต “ทุ่มชีวิต ปิดองค์พระแกนกลาง” ซึ่งเพียงแค่หนึ่งอาทิตย์ให้หลังก็สามารถ “ชิตัง เม” ทะลุเป้าได้อย่างน่าอัศจรรย์และได้มาฉลองความสำเร็จร่วมกันในวันที่ ๖ กันยายน ณ ลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ ซึ่งได้บังเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ตะวันแก้ว ที่ดวงตะวันได้เปล่งรัศมีสีสัน ปรากฏอยู่ในกลางกายของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ สามารถมองดูด้วยตาเปล่าได้ ทำให้ผู้นำบุญที่อยู่ ณ ที่นั้น ต่างหลั่งน้ำตาด้วยความปิติตื้นตันใน และจะขอจดจำเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้จนถึงวันชีพวาย
พิธีอธิษฐานจิตเพื่อรวมพลังผู้นำบุญ ปิดองค์พระภายนอก ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ วันนี้ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรรวมพลังอธิษฐานจิต เพื่อปิดยอดองค์พระภายนอก ๓๐๐,๐๐๐ องค์ ให้สำเร็จ เพื่อบูชาธรรมในวาระครบรอบ ๑๑๔ ปี ของพระมงคลเทพมุนี ซึ่งกัลยาณมิตรทั้งหลายจะได้ร่วมใจกันทุ่มชิวิตเป็นเดิมพันในการสร้างบารมีปิดองค์พระให้สำเร็จ และมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลกทั้งหลาย ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
พิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวภายนอก ครั้งที่ ๓-๕๔
๗ มิถุนายน ๒๕๔๑ ถึง ๓ ตุลาคม ๒๕๔๒ หลังจากพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวครั้งปฐมเริ่มในวันวิสาขบูชา ปี ๒๕๓๙ และพิธีหล่อพระครั้งที่ ๒ ใน วันคุ้มครองโลก ปี ๒๕๔๑ ต่อมาเมื่อสภาธรรมกายสากลหลังใหม่เปิดใช้งาน จึงได้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัว เพื่อประดิษฐานภายนอกมหาธรรมกายเจดีย์ ตั้งแต่ครั้งที่ ๓ จนถึงครั้งที่ ๕๔ ในทุกวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๑ ถึง ๓ ตุลาคม ๒๕๔๒ รวมจำนวนองค์พระภายนอกที่หล่อขึ้นทั้งหมด ๓๐๐,๐๐๐ องค์ ซึ่งเป็นการหล่อพุทธปฏิมากรที่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน และมีจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
พิธีอัญเชิญพระธรรมกายทองคำ ประดิษฐานบนยอดโดม
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ (วันมาฆบูชา) พระธรรมกายประจำตัวทองคำจารึกชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ที่ผู้มีบุญได้ร่วมกันหล่อและทำพิธีประดิษฐานบนแผ่นแคลดดิงส่วนยอดโดมมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ถึงเวลาที่ต้องอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดโดมของมหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อให้มนุษย์และเทวดาได้กราบไหว้ไปอีกนานนับพันปี โดยมีสาธุชนหลายหมื่นคนเดินทางมาร่วมพิธีกรรมในครั้งนี้ และได้มีโอกาสเห็นความก้าวหน้าของโครงสร้างภายนอกของพระเจดีย์ที่ใกล้เสร็จสมบูรณ์ ตลอดจนการติดตั้งพระธรรมกายประจำตัวผู้มีบุญเริ่มมีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในทุกขณะ
พิธีอธิษฐานจิต ประดิษฐานองค์พระ ครบ ๒๐๐,๐๐๐ องค์
๒๘ กรกฏาคม ๒๕๔๒ นับตั้งแต่วันเริ่มต้นสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ ผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรทุกคนต่างทุ่มเทชีวิตแจ้งข่าวบุญสร้างพระธรรมกายประจำตัว ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้มหาชนผู้มีบุญเชื่อถือว่า ภาพจำลองมหาเจดีย์ที่ประดิษฐานองค์พระ ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์ จะสำเร็จเป็นจริงขึ้นมาได้ แต่ด้วยหัวใจที่ทุ่มเทและเสียสละของยอดผู้นำบุญทุกคน ในที่สุดทุกคนก็ได้ร่วมกันฉลองความสำเร็จในการทำหน้าที่ จนฝ่ายผู้สร้างสามารถประดิษฐานองค์พระได้ถึง ๒๐๐,๐๐๐ องค์ ซึ่งทุกท่านต่างอธิษฐานจิตตอกย้ำเป้าหมายในการทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรไปจนกว่ามหาธรรมกายเจดีย์จะสำเร็จลุล่วงอย่างเป็นอัศจรรย์
พิธีติดตั้งมหาวิสุทธิบัลลังก์แผ่นสุดท้าย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ “มหาวิสุทธิบัลลังก์” หรือแผ่นแคลดดิงที่ใช้สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระธรรมกายประจำตัว ซึ่งมีความสำคัญเปรียบประดุจมหารัตนบัลลังก์ที่รองรับพระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ ๕๙ ปี ของพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เหล่าศิษยานุศิษย์ต่างเดินทางมากราบมุทิตาสักการะ พร้อมร่วมพิธีติดตั้งมหาวิสุทธิบัลลังก์แผ่นสุดท้ายซึ่งเป็นนิมิตหมายอันสำคัญว่า บัดนี้องค์พระภายนอกได้ประดิษฐานเต็มโดมและเชิงลาด ครบทั้ง ๓๐๐,๐๐๐ องค์ แล้ว
พิธีฉลองมหาธรรมกายเจดีย์ ครั้งที่ ๑
วันคุ้มครองโลก ๒๒ เมษายน ๒๕๔๓ กว่าจะมีวันนี้....ที่รอคอย นับจากวันเริ่มกลั่นแผ่นดินในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ผ่านงานบุญต่างๆมาอย่างยาวนาน ปีแล้วปีเล่า ได้พบพานทั้งความสำเร็จ และอุปสรรคนานัปการ แต่ในที่สุดเราทุกคนก็สามารถพลิกผืนนาฟ้าโล่งให้กลายมาเป็นมหาเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์ และสามารถจัดพิธีฉลองมหาธรรมกายเจดีย์ ครั้งที่ ๑ ได้สำเร็จ โดยมีพระภิกษุสามเณรจากทั่วประเทศหลายหมื่นรูป และสาธุชนนับแสนคน มาร่วมกันฉลองความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต่อหน้ามหาธรรมกายเจดีย์สีทองอร่าม นับเป็นภาพประวัติศาสตร์การสร้างบารมีอันงดงาม ที่ผู้มีบุญทุกคน “ลืมไม่ลง คงไม่ลืม ปลื้มทุกชาติ”
พิธีโป้งประวัติศาสตร์
๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๓ ถึง ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๔ แม้พิธีฉลองมหาธรรมกายเจดีย์อันยิ่งใหญ่ตระการตาได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ไฟในการสร้างบารมีของยอดผู้นำบุญทุกท่านยังคงโชนนิรันดร์ และเร่งเดินหน้าช่วยกันสร้าง “แผ่นพื้นลานธรรม” เพื่อแปรเปลี่ยนลานดินรอบมหาธรรมกายเจดีย์ที่เคยเจิ่งนองด้วยสายฝน ให้กลายเป็นลานดินรอบมหาธรรมกายเจดีย์ที่เคยเจิ่งนองด้วยสายฝน ให้กลายเป็นลานหินแกรนิต เพื่อใช้รองรับผู้มีบุญนับล้านทั่วโลกในอนาคต ซึ่งได้เปิดโอกาสให้เจ้าของบุญได้ประทับรอยนิ้วหัวแม่มือ พร้อมทั้งจารึกชื่อสกุลไว้บนแผ่นหินทุกแผ่นอีกด้วย โดยได้จัดพิธี “โป้งประวัติศาสตร์” ในทุกวันอาทิตย์ ณ สภาธรรมกายสากล เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๓ จนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๔ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๔๖ ครั้ง
พิธีเทคอนกรีตพื้นมหารัตนวิหารคด
๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ หลังจากพิธีเทคอนกรีตฐานรากของมหาธรรมกายเจดีย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ งานบุญเทคอนกรีตก็ได้บังเกิดขึ้นอีกครั้ง ภาพของคณะสงฆ์ตักคอนกรีตใส่ถังปูนประวัติศาสตร์ ส่งต่อให้สาธุชนหลายหมื่นคนที่ยืนเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และส่งถังปูนต่อๆไปด้วยความสนุกสนาน เป็นบุญบันเทิงเบิกบานตามจังหวะของเสียงดนตรี ทำให้ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ก็เห็นแต่รอยยิ้มอิ่มสุขบนใบหน้าของเหล่าสาธุชนทุกเพศทุกวัย นับเป็นภาพการสร้างบารมีอันงดงาม ที่เทวดาทุกชั้นต่างเฝ้ามองด้วยความชื่นชมอนุโมทนากับบุญใหญ่ในครั้งนี้
พิธีเทคอนกรีตพื้นมหารัตนวิหารคด
พิธีกดปุ่มเปิดไฟส่อง “เสาแก้วพันปี มหารัตนวิหารคด
๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗ ในค่ำคืนของวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สาธุชนหลายหมื่นคนได้มาร่วมประกอบพิธีกดปุ่มเปิดไฟส่อง “เสาแก้วพันปี มหารัตนวิหารคด” จำนวน ๒,๕๔๗ ต้น ณ ลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล คณะเจ้าภาพกดปุ่มเปิดไปส่องสว่าง ทำให้มองเห็นเสาแก้วพันปีทุกต้น ที่ตั้งเด่นสง่าเรียงรายสุดสายตาได้อย่างชัดเจน ซึ่งยอดเสาทุกเสาได้จารึกชื่อเจ้าของบุญทุกท่านรวมกว่า ๒๕,๐๐๐ ชื่อ ให้เป็นประจักษ์พยานแห่งศรัทธาของผู้มีบุญ “รุ่นสถาปนา” เพื่อให้คนรุ่นหลัง ซึ่งเป็น “รุ่นอนุโมทนา” ได้ช่วยกันรักษาและสืบทอดพระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายให้รุ่งเรืองตลอดไป
พิธีเทลีนคอนกรีต บันไดขาขึ้นมหารัตนวิหารคด
๔ มิถุนายน ๒๕๔๙ บันไดขาขึ้น...คือ ย่างก้าวแห่งความสำเร็จสมปรารถนา ที่จะเกิดขึ้นในทุกๆขั้น ที่ผู้มีบุญได้ก้าวเดินไป ด้วยเหตุนี้ ยอดกัลยาณมิตรทุกท่านจึงไม่ยอดพลาดบุญใหญ่ คือ พิธีเทลีนคอนกรีต บันได ขาขึ้นมหารัตนวิหารคด ฝั่งทิศใต้ ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นอีกครั้งที่ผู้มีบุญได้พร้อมใจกันมาสานต่อความสำเร็จของมหารัตนวิหารคด ด้วยหนึ่งกระป๋องสองมือที่ช่วยกันถือและส่งต่อกันไปอย่างปิติเบิกบานเหมือนดังเช่นพิธีเทคอนกรีตครั้งที่ผ่านๆมา ก่อนกลับบ้าน เหล่าสาธุชนได้เข้าแถวเพื่อรับถังปูนเป็นที่ระลึก ซึ่งจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้บอกเล่าเรื่องราวการสร้างบารมีครั้งนี้ไปตราบนานเท่านาน
พิธีเทคอนกรีต เสาค้ำฟ้ามหารัตนวิหารคด ครั้งที่ ๑
วันธรรมชัย ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๐ มหารัตนวิหารคด เหลือเพียงการก่อสร้างส่วนสุดท้าย คือ หลังคา ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่จะช่วยป้องกันแดด ลม ฝน อันจะขาดเสียมิได้ ดังนั้น ใน วันธรรมชัย ปี ๒๕๕๐ เหล่าศิษยานุศิษย์หลายหมื่นคนจึงได้เดินทางมาร่วมพิธีเทคอนกรีตเสาค้ำฟ้า บริเวณทิศใต้ ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้มีบุญได้มีโอกาสขึ้นมายังชั้น ๒ ของมหารัตนวิหารคต เมื่อถึงเวลาสว่าง พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์นำประกอบพิธีเทปูนคอนกรีตเสาค้ำฟ้า เพื่อรองรับหลังคามหารัตนวิหารคด เป็นปฐมเริ่ม ต่อด้วยคณะเจ้าภาพและสาธุชนทุกคนร่วมกันส่งถังปูนประวัติศาสตร์ต่อๆกันไปอย่างไม่ขาดสาย ดุจดั่งการสร้างบารมีที่จะดำเนินต่อไปอย่างไม่ขาดสายเช่นเดียวกัน
พิธีเทคอนกรีต เสาค้ำฟ้ามหารัตนวิหารคด ครั้งที่ ๒
วันธรรมชัย ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ เมื่อวาระแห่งการบรรลุธรรมอันยิ่งใหญ่ได้เวียนมาบรรจบ เหล่าศิษยานุศิษย์จึงได้พร้อมใจกันเดินทางมาร่วมพิธีเทคอนกรีตเสาค้ำฟ้ามหารัตนวิหารคด ครั้งที่ ๒ บริเวณทิศใต้ ฝั่งทิศตะวันออก เพื่อบูชาครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ด้วยการสร้างมหารัตนวิหารคด เพื่อรวมพุทธบุตรทั่วโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว และพิธีในครั้งนี้ยังเป็นการประกาศชัยชนะของยอดผู้นำบุญหลายท่านที่สามารถสร้างโมดูลหลังคามหารัตนวิหารคดได้สำเร็จตามเป้าหมายอีกด้วย สมกับคำว่า “วันบรรลุธรรม วัน บรรลุเป้า เราทำได้ ชิตัง เม รวย !”
พิธีหล่อพระธรรมกายประจำตัวภายใน ๒๒ เมษายน วันคุ้มครองโลก ปี ๒๕๔๘,๒๕๔๙,๒๕๕๐,๒๕๕๑ พิธีหล่อองค์พระธรรมกายประจำตัว เพื่อประดิษฐานภายในมหาธรรมกายเจดีย์ ได้จัดให้มีขึ้นในวันคุ้มครองโลก ๒๒ เมษายน มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนถึงวันคุ้มครองโลกปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ภาพของเหล่าสาธุชนชุดขาวนับแสนคนที่นั่งกลั่นใจอยู่ภายในลานธรรมกายเจดีย์ และพร้อมใจกันอธิษฐานจิตก่อนที่จะหย่อนมหาสุวรรณนิธิลงบนรางรับสีทองเสียงดังสดใสก้องกังวานไปทั่วบริเวณ จากนั้นคณะสงฆ์ได้ทำการหล่อองค์พระ อันเป็นการสถาปนากายตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ซึ่งเป็นทางมาแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยปิดอบาย และส่งผลให้มีความสุขนับตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้ และตลอดไปจนกว่าจะถึงวันเข้าสู่พระนิพพาน
การหล่อพระธรรมกายประจำตัว เป็นโอกาสที่ยอดผู้นำบุญทุกท่านจะเอาชนะใจตัวเอง เพื่อสานภารกิจสุดท้ายให้สำเร็จ “ทุ่มสุดฤทธิ์ ปิดเจดีย์” และสวมหัวใจของ “นักรบกองทัพธรรม” ด้วยการเชิญชวนผู้มีบุญให้ได้มาร่วมเป็นหนึ่งในล้านคน ที่จะมีชื่อจารึกไว้ที่ฐานของพระธรรมกายประจำตัว ให้มนุษย์และเทวดาได้กราบไหว้ไปอีกนานนับพันปี วันคุ้มครองโลกปีนี้ จะเป็นวันแห่งชัยชนะมหาปิติอันไม่มีประมาณ ของยอดนักสร้างบารมีทุกท่าน ในฐานะผู้ร่วมสถาปนามหาธรรมกายเจดีย์ ที่ได้มีส่วนในทุกๆบุญ นับตั้งแต่เริ่มต้นเข้าวัดสร้างบารมีมาโดยไม่ขาดเลยแม้แต่เพียงบุญเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญสุดท้าย คือการช่วยกันทำให้มหาธรรมกายเจดีย์เสร็จสมบูรณ์ ด้วยการสร้างองค์พระให้ครบ ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์ ซึ่งมหาปิตินี้จะกลั่นตัวเป็นดวงบุญใหญ่ที่มีพลานุภาพดึงดูดโภคทรัพย์สมบัติให้บังเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ในปัจจุบันชาตินี้ และจะเป็นฝังสำเร็จให้ได้เข้าถึงรัตนะอันประเสริฐสุด คือ พระธรรมกายภายในได้อย่างเป็นอัศจรรย์นับตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม.......