วันครูวิชชาธรรมกาย 2551 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันครูวิชชาธรรมกาย 2551

วันครูวิชชาธรรมกาย

พิธีบูชาครูผู้คนพบวิชชาธรรมกาย และอัญเชิญองค์ต้นแบบ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2551 ณ วัดพระธรรมกาย

การค้นพบวิชชาธรรมกาย วันครูวิชชาธรรมกาย คือวันที่เหล่าศิษยานุศิษย์ ต่างรำลึกถึงวันที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สละชีวิตเป็นเดิมพัน ในการปฏิบัติธรรมเพื่อค้นหาสัจจธรรมของชีวิต หรือธรรมะที่แท้จริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบในวันตรัสรู้ นั่นก็คือ วิชชาธรรมกายนั่นเอง ซึ่งนับนานกว่า 2000 ปีหลังพุทธปรินิพพาน ที่คำสอนที่แท้จริงในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุซึ่งมรรคและผลได้เลือนหายไป คงเหลือไว้แต่คำว่า ”ธรรมกาย” ในพระไตรปิฎกเท่านั้นเอง จนในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีได้สละในการนั่งสมาธิจนบรรลุธรรมดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น ดังนั้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 14 กันยายน 2551 ทางวัดพระธรรมกาย และ ศิษยานุศิษย์หลวงปู่ทั่วโลกต่างจัดให้มีพิธิฉลองวันครูธรรมกายขึ้น เป็นประจำเหมือนอย่างปีที่ผ่านๆมา

 

องค์ต้นแบบ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

 

ธรรมกาย คือ อะไร

นับแต่ครั้งที่เจ้าชายสิทธัทถะ ได้ประสูติ ในวันเพ็ญเดือน 6 ใน วันนั้นเรียกว่า วันบังเกิดแห่ง ”รูปกาย หรือกายเนื้อ” ของพระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นที่โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ พระมาหาสมาณะได้ทิ้งชีวิตปฏิบัติธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว ใต้โพธิบัลลังก์เพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต จนพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นเอง วันนั้นเป็นวันที่เรียกว่า วันบังเกิดแห่ง “ธรรมกาย หรือกายแห่งการตัรสรู้ธรรม” ดังนั้น ธรรมกายคือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าถึง แล้วทำให้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์บริบูรณ์ขึ้นมานั่นเอง หลังจากนั้น 45 พรรษาแห่งการเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้เทศนาสั่งสอนให้คนทั้งหลายได้รู้จักธรรมกาย และหนทางปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งธรรมกาย อันเป็นทางเอกสายเดียว และเป็นทางสายกลางที่จะให้มวลมนุษย์ได้เข้าถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ หรือ พระนิพพานได้ แต่หลังจากนั้นประมาณ 500 ปีหลังพุทธปรินิพพาน วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกาย ได้หายสาปสูญไปเหลือเพียงแต่คำว่า ธรรมกาย ให้คนรุ่นหลังได้ตีความไปต่างๆนานา แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วธรรมกาย คือ อะไร จนในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ที่พระอุโบสถ วัดโบสถ์(บน) บางคูเวียง พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง (สด จันทสโร) ได้สละชีวิตเป็นเดิมพัน ขอนั่งสมาธิแม้ตายก็ไม่ลุกจากที่หากไม่เข้าถึงธรรมที่พระบรมศาสดาได้เข้าถึง ในที่สุดแห่งความพยายามท่านได้เข้าถึงธรรม ณ ที่นั้น และได้เผยแผ่ธรรม ตลอดจนวิธีปฏิบัติ อันเป็นแม่แบบ และต้นแบบ ตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ อย่างถูกต้องตามร่องลอยของพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตของท่าน

ทำไมเราต้องเคารพ และบูชาท่าน

เนื่องจากพวกเราที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ไม่ว่าจะมีความรู้ทางโลก มีความรู้ทางธรรมมากมายเพียงใด ก็คงจะทราบกันดีว่า เมื่อได้ลงมือศึกษาพระไตรปิฎกจะพบว่า การศึกษาจนกระทั่งแตกฉาน แล้วสามารถนำความรู้ที่ได้มาใช้ในภาคปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆเลย เพราะว่าคำพูดแต่ละคำที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ล้วนเป็นถ้อยคำที่ลึกซึ้ง มีความหมายได้หลายนัย หากเอาความรู้ของเราที่มีอยู่ไปวินิจฉัย แล้วนำมาปฏิบัติ ก็ยากที่จะบังเกิดผลได้ ด้วยเหตุนี้เองการที่ผู้ใดผู้หนึ่ง จะศึกษาธรรมะให้ได้เข้าใจลึกซึ้ง ชัดเจน และสามารถนำไปประพฤติปฏิบัติ ให้เกิดผลได้จริงแล้ว เรื่องสำคัญคือ "ต้องได้ครูดี" เพราะว่าถ้ายังหาครูดีไม่เจอ เมื่ออ่านธรรมะแล้ว ธรรมะนั้นจะผ่านตาแต่ไม่ผ่านใจ แล้วตีความหมายผิดเพี้ยน หรือว่ามีความลึกซึ้งไม่เพียงพอที่จะนำไปปฏิบัติก็ได้ จนในที่สุดอาจจะทำให้ต้องเดือดร้อนตามมาในภายหลัง นอกจากจะค้นวิชชาธรรมกายกลับมาได้แล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ ยังเมตตานำวิชชาธรรมกาย ไปสอนผู้อื่น เพื่อให้มนุษย์ในยุคนั้น ได้รู้จักวิชชาธรรมกายตามท่านอีกด้วย เพราะฉะนั้น การที่พวกเราได้มารู้จักคำว่า "ธรรมกาย" รู้จักวิธีที่จะทำให้ถึงธรรมกายในตัว รู้จักเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต ทั้ง ๆ ที่ยังปฏิบัติไปไม่ถึง จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะทุ่มเทในการปฏิบัติธรรมกันอย่างนี้ พวกเราเป็นหนี้พระคุณของท่านอย่างยิ่งทีเดียว

พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม ท่านก็เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไปค้นเอาวิชชาธรรมกายย้อนกลับมาให้พวกเรา... ถึงคราวอบรมลูกศิษย์ลูกหา ท่านก็ได้วางกฎ วางระเบียบ เอาไว้ เป็นขั้น เป็นตอน อย่างละเอียดชัดเจน และเนื่องจากการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เข้าถึงธรรมกายในตัวนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย ท่านจึงได้เคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ ขนาบแล้วขนาบอีก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใครที่ปฏิบัติได้จริง ก็เท่ากับเป็นพยานให้กับพระพุทธศาสนาไปด้วยในตัว ส่วนญาติโยมที่มาทำบุญต่างก็พากันปลื้มใจ ว่าได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ เพราะบุญที่เกิดขึ้นสามารถเห็นผลได้ทันตาเลยทีเดียว นอกจากท่านจะทุ่มเทอบรมลูกศิษย์ลูกหา ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ภายในประเทศแล้ว ท่านยังทุ่มเทเผยแผ่ไปสู่ต่างประเทศ จนกระทั่งมีชาวต่างชาติ เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ที่สำคัญ ก่อนจะลาโลกท่านได้สั่งเอาไว้ว่า ชาวโลกที่บารมีแก่กล้า พอที่จะเข้าถึงธรรมกายในตัว ยังมีอยู่อีกมาก แต่ว่าได้กระจัดกระจายไปทั่วโลก ซึ่งถ้าไม่มีใครไปสอนวิชชาธรรมกายให้ เขาก็จะไม่รู้บุญ รู้บาป เดี๋ยวจะตกนรกไปเสียอีก เพราะฉะนั้น แม้ท่านจะละโลกไปแล้ว ก็ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย ตั้งใจนำวิชชาธรรมกายเผยแผ่ไปทั่วโลกให้ได้ วัดพระธรรมกายจึงเป็นผลแห่งการปฏิบัติธรรมและสั่งสอนธรรมของท่าน ในวันคล้ายวันเกิดของท่านซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ในปีนี้ เหล่าศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันที่จะแสดงความกตัญญูรู้คุณท่าน ด้วยการสักการะบูชา และรวบรวมปัจจัยเพือสร้างรูปหล่อคล้ายองค์จริงของท่านแต่มีขาดใหญ่กว่าองค์จริง ถึง 1.5 เท่าด้วยทองคำบริสุทธิ์หนัก 1 ตัน ดังนั้นในวันครูธรรมกายของปีนี้จึงได้อันเชิญองค์ต้นต้นแบบของท่านออกมาเพื่อให้สาธุชน และเหล่าศิษยานุศิษย์ได้สักการะบูชาพร้อมกันทั่วโลก

 

รูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) องค์แรก ขนาด 1.5 เท่าขององค์จริง

 

ทำไมต้องหล่อท่านด้วยทองคำ

เพราะปัจจุบันแม้จะมีนวัตกรรมล้ำยุคมากมาย เพียงไร แต่ก็ยังไม่มีสิ่งใดที่สามารถขจัดความมืดบอด ของอวิชชาและนำพามนุษยชาติทั้งหลายให้หลุดพ้น จากความทุกข์ในสังสารวัฏไปได้แต่นับเป็นความโชคดีของมวลมนุษยชาติ ที่พระมงคลเทพมุนีได้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และนำมาสั่งสอนเผยแผ่ได้อย่างกระจ่างชัดที่สุด อย่างที่ไม่ เคยมีบูรพาจารย์ท่านใดในอดีตได้เคยกระทำมาก่อน ด้วยคำสอนที่ว่า "หยุดเป็นตัวสำเร็จ" ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เบื้องต้นจนเข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นกายตรัสรู้ธรรมของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน นับเป็น การค้นพบสรณะซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐที่สุดของชาวโลกที่จะนำพา มนุษย์ให้หลุดพ้นจากห้วง แห่งอวิชชา สามารถเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลง และมุ่งตรงสู่เป้าหมาย คือ พระนิพพาน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ความสุขอันเป็นนิรันดร์ได้อย่างแท้จริง ทองคำซึ่งเป็นธาตุอันบริสุทธิ์ และสูงส่ง จึงคู่ควรกับการที่จะนำของที่ทุกคนสมมุตว่าเป็นสิ่งสูงส่งมาหล่อบุคคลอันเป็นผู้สูงส่งและบริสุทธิ์ ด้วยคุณธรรมและคุณวิเศษอันไม่มีประมาณ เมื่อเหล่าศิษยานุศิษย์และชาวโลก ตลอดจนอนุชนรุ่นหลัง ได้มีโอกาสเดินทาง มากราบสักการะรูปหล่อทองคำ และศึกษาประวัติ ชีวิตอันงดงามของท่าน จะก่อเกิดแรงบันดาลใจ ในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของท่าน จนกระทั่งสามารถเป็น กัลยาณมิตรให้แก่ตนเอง และนำพาชาวโลกทั้งหลายให้ได้พบความสุข และเข้าถึงสรณะที่แท้จริง อันจะเป็นทางมาของสันติภาพโลกผ่านสันติสุขภายใน ไปอีกนานนับพันปีได้

บทความอื่นๆในหมวดนี้