ทอดกฐินสามัคคี 2550 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ทอดกฐินสามัคคี 2550

ทอดกฐินสามัคคี 2550

วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2050 ณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี

 

 

“ทอดกฐิน” อริยประเพณีที่สืบทอดมากว่า 2,500 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัย มีความศรัทธาเลื่อมใสว่าเป็น “ยอดของมหากุศล” จะเป็นเหตุนำให้ผู้ที่ได้มีส่วนในการทอดกฐินนั้น ได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่สุดประมาณ ด้วยเหตุนี้ การทำบุญทอดกฐินจึงเป็นงานบุญที่อยู่ในใจ และอยู่ในเส้นทางสัญจรของชีวิต ที่ในหนึ่งปีจะพลาดไม่ได้

เพื่อให้การทำบุญทอดกฐินในปีนี้ ดำเนินอยู่บนรากฐานของศรัทธาอย่างพุทธศาสนิกชนตามพุทธประสงค์ กล่าวคือ ทำบุญอย่างผู้เข้าใจคุณค่าและความหมายของบุญ ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่เราจะได้ศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ดังต่อไปนี้

ความหมายของกฐินและทอดกฐิน

กฐิน มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมาย ได้แก่

  • กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ คือ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า สะดึง ก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาล การทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนด กระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อน ซึ่งมักจะเรียกๆรวมกันว่า จีวร แต่ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่งว่า สบง, ผ้าห่มว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อนว่า สังฆาฏิ
  • กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่น หรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
  • กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาส เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือ ทอดหรือวางผ้าลงไป แล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น “กาลทาน” หมายถึง การถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน จึงถือว่าเป็นทานที่มีโอกาสทำได้ยาก
  • กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลาย ก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาล การหาผ้า การทำจีวร ทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว ทรงอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือ จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

 

 

ที่มาของประเพณีทอดกฐิน

ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ จำนวน 30 รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นก็เดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก ระยะนั้นมีฝนตกชุก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลให้ทรงทราบ จากนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาต ให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส โดยกำหนดระยะเวลา คือ นับจากวันออกพรรษาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นระยะเวลา 1 เดือน กฐิน จึงได้ชื่อว่าเป็น กาลทาน

ความพิเศษของกฐินทาน

ในปีหนึ่ง แต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจานั้นแล้วกฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ได้แก่

  1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
  2. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
  3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
  4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
  5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
  6. จำกัดคราว คือ วัดๆหนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
  7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่น ทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง

 

 

ประเพณีทอดกฐินในปัจจุบัน

ช่วงเช้าเหล่าอุบาสก อุบาสิกา จะเริ่มต้นเช้าอันเป็นวันมงคลด้วยการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ณ อาวาสจัดพิธีทอดกฐิน ภาพพระภิกษุและสามเณรเดินเรียงรายเป็นทิวแถวด้วยอาการสงบ สีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสตร์ต้องแสงตะวันยามเช้า สร้างเลื่อมใสศรัทธาให้เอิบอาบในใจจิตพุทธศาสนิกชนทุกคนที่ได้พบเห็นอย่างไม่เสื่อมคลาย

 

 

 

พิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อถวายผ้ากฐินตามพระบรมพุทธานุญาต บางวัดจัดขึ้นในช่วงสาย และต่อด้วยการถวายสังฆทาน เพื่อถวายภัตตาหาร โดยธรรมเนียมแล้ว มักมี “บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรม สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายภายในวัด เช่น ค่าน้ำค่าไฟตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้าง ทั้งส่วนซ่อมแซมและต่อเติมเสริมใหม่ ทำให้กิจการพระศาสนาขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางวัดก็จะเพิ่มการปฏิบัติธรรมด้วย อย่างเช่นที่วัดพระธรรมกาย กิจกรรมทอดกฐินจะทำในช่วงบ่าย ส่วนช่วงสายทุกคนจะได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาร่วมกัน เพื่อกลั่นใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่

 

 

กิจกรรมที่มาพร้อมกับประเพณีกฐิน คือ “ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน” แต่ละวัด แต่ละท้องถิ่น จะแตกต่างกันไป แต่จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ เพื่อความสวยงาม และทรงคุณค่าคู่ควรกับความสำคัญของพิธีทอดกฐินซึ่งจัดพียงปีละครั้ง ริ้วขบวนอาจประกอบด้วย ขบวนธงทิว ถ้าภาคเหนืออาจเป็นตุง ขบวนพานพุ่มดอกไม้ โดยสาธุชนจะชักชวนญาติสนิทมิตรสหายรวมทั้งบุตรหลานหว่านเครือ มาร่วมขบวน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของไทยที่หล่อหลอมให้เยาวชนใกล้วัดตั้งแต่เล็ก

การได้ผ้ากฐินแบบมีเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็นคฤหบดีกฐินนั้น เมื่อมีผู้มาทอดผ้า ณ เบื้องหน้าคณะสงฆ์ โดยไม่ได้เจาะจงถวายแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง คณะสงฆ์ต้องทำพิธีอปโลกน์กฐิน หมายถึง การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ ถามความเห็นชอบว่า ผ้ากฐินในปีนี้ควรถวายแก่ภิกษุรูปใด

ส่วนพิธีกรานกฐิน เป็นสังฆกรรมที่คณะสงฆ์ จะทำพิธีกันในพระอุโบสถ โดยพระภิกษุผู้ได้รับการเลือกสรรจากคณะสงฆ์ว่า เป็นผู้มีสติปัญญา สามารถที่จะกรานกฐินได้

 

 

อานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน

  1. ทำให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ
  2. ทำให้ได้ลักษณะที่งดงามสมส่วน
  3. ทำให้มีผิวพรรณงดงาม
  4. ทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการแสวงหาทรัพย์
  5. เมื่อละโลกแล้วย่อมไปบังเกิดในสวรรค์

 

กำหนดการ

06:15 น. พิธีตักบาตร ณ มหารัตนวิหารคด
09:30 น. สวดมนต์ - นั่งสมาธิ – พิธีบูชาข้าวพระ
11:00 น. ถวายภัตตาหารเพล เป็นสังฆทาน
11:15 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
01:15 น. นั่งสมาธิ และประกอบพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2550
03:30 น. ถวายปัจจัยสร้างหลังคามหารัตนวิหารคด
04:15 น. เสร็จพิธี

ประมวลภาพ

บทความอื่นๆในหมวดนี้