วิสาขประทีป ถวายเป็นพุทธบูชา
พระประสูติกาลของพระมหาบุรุษในครั้งนั้นถือเป็น มหาปีติประการแรกของวันวิสาขบูชา
วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือนวิสาขะ เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอุบัติขึ้นบนโลก เพื่อมาเป็นประทีปธรรมส่องทางชีวิตให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอันหาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายมิได้ วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่ชาวพุทธทั้งหลายต่างร่วมใจกันจัดให้มีพิธีสักการ บูชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดวันหนึ่งของโลก
เจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นผู้ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในกาลต่อมา หากแต่เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา หลังจากที่พระราชโอรสเพิ่งแรกประสูติ พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกผนวช ครั้นเมื่อผนวชแล้วก็ทรงแสวงหาโมกขธรรมด้วยพระองค์เองอยู่ 6 ปี จึงทรงค้นพบทางสายทางจากการบำเพ็ญสมาธิภาวนาในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะอีกเช่นกัน หลังจากการตรัสรู้ธรรม เจ้าสิทธัตถะก็ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่หมดอาสาวกิเลส ในกาลต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ ยังผลทำให้เทวดาและมนุษย์จำนวนมากมายนับประมาณมิได้ ได้บรรลุธรรมตามพระองค์ไปด้วย
กาลแห่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในครั้นนั้น ถือเป็น มหาปีติประการที่สองของวันวิสาขบูชา
ตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ทรงมีพระมหากรุณาสั่งสอนสัตว์โลกอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาที่โลกมีสันติสุขอย่างแท้จริง และถือว่าเป็นช่วงที่สิทธิมนุษยชนเบ่งบานมากที่สุดในโลกอีกด้วย มนุษย์ทุกชนชั้นวรรณะมีสิทธิเท่าเทียมกันในการบรรลุถึงสันติสุขภายใน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเอกบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อันหาบุคคลใดในประวัติ ศาสตร์ของมนุษยชาติมาเปรียบมิได้
- เพียงแค่เศษเสี้ยวธุลีแห่งพระปัญญาธิคุณอันไพศาล ก็สามารถยังพวกเราทั้งหลาย ให้เป็นผู้ที่มีอัจฉริยภาพกว่าผู้ใดในโลกนี้ได้แล้ว
- เพียงแค่เศษเสี้ยวธุลีแห่งพระบริสุทธิคุณอันบริบูรณ์ ก็สามารถยังพวกเราทั้งหลาย ให้บริสุทธิ์กว่าผู้ใดในโลกนี้ได้แล้ว
- เพียงแค่เศษเสี้ยวธุลีแห่งพระกรุณาธิคุณอันอเนกอนันต์ ก็สามารถยังพวกเราทั้งหลาย ให้เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมกว่าผู้ใดในโลกนี้ได้แล้ว
กาลแห่งการดับขันธเพื่อเสด็จสู่อมตนิพพานอันเกษมในครั้งนั้น ถือเป็นมหาปีติประการที่สามของวันวิสาขบูชา
ถัดจากวันเพ็ญเดือนวิสาขะแห่งวันตรัสรู้ธรรมมาอีก 45 ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้เสด็จจากพวกเราไปแล้ว แต่พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ยังดำรงอยู่เพื่อเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตให้แก่สัตว์โลกที่ตามมาในภายหลังต่อไป และตราบนานเท่าที่พระธรรมคำสั่งสอนยังคงอยู่ มรรคผลนิพพานก็ยังดำรงคงอยู่ด้วยเช่นกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมอบมรดกธรรมอันล้ำค่าเอาไว้ให้มวลมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัย ได้ดื่มด่ำในรสพระธรรมนั้นสืบต่อๆกันมาจวบจนถึงปัจจุบันนี้
กาลแห่งการก้าวเข้าสู่ความเป็นธรรมทายาท เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ ถือเป็นมหาปีติประการที่สี่ของวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชาในปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2550 วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ได้จัดให้มีพิธีสักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างตระการตาอีกครั้งหนึ่ง เริ่มต้นวันใหม่แห่งวันวิสาขปุณณมีด้วยการตักบาตรสร้างมหาทานบารมี ในช่วงสายมีการนั่งสมาธิภาวนากลั่นใจให้ใสสว่าง ตามด้วยการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์นับพันรูป ช่วงบ่ายมีพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา ของสามเณร 7 รูป เพื่อเดินตามรอยบาทพระศาสดา ณ อุโบสถวัดพระธรรมกาย
ในช่วงค่ำมีพิธีจุดวิสาขประทีปและเวียนประทักษิณ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาตามแบบวัฒนธรรมชาวพุทธอันดีงาม ซึ่งจะเป็นภาพที่สร้างความตราตรึงใจให้แก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รักสันติภาพอย่างแท้จริงจะได้ถือวาระโอกาสนี้ ร่วมกันสร้างภาพแห่งสันติให้บังเกิดขึ้นบนโลก โดยผ่านพิธีกรรมอันสงบของวันวิสาขบูชาในปีนี้
ด้วยสองมือบรรจงประคองวิสาขประทีป เพื่อน้อมถวายบูชาพระพุทธองค์ด้วยดวงใจ พร้อมทั้งน้อมแสงประทีปของเปลวไฟเข้าไปส่องสว่างในกลางใจ ในขณะที่ทุกคนสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยไปพร้อมกับใจที่ทำสมาธิภาวนา ด้วยปรารถนาที่จะส่งต่อแสงแห่งสันติภาพภายใน ให้ไปบังเกิดแก่ชาวโลกทุกๆคนพร้อมกัน
กาลที่ภาพแห่งสันติที่งดงามนี้บังเกิดขึ้นในค่ำคืนวันวิสาขปุณณมี ถือเป็นมหาปีติอีกประการหนึ่งของวันวิสาขบูชา ด้วยเช่นกัน
กำหนดการ
06:00 น. | พิธีตักบาตร ณ มหารัตนวิหารคด ฝั่งทิศใต้ด้านตะวันตก |
09.30 น. | พิธีปฏิบัติธรรมภาคเช้า |
11.00 น. | พิธีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน |
11.15 น. | รับประทานอาหารกลางวัน |
13.00 น. | พิธีปฏิบัติธรรมภาคบ่าย |
13.30 น. | พิธีอุปสมบท ณ พระอุโบสถ วัดพระธรรมกาย |
17.30 น. | พิธีปฏิบัติธรรมภาคค่ำ |
18.00 น. | พิธีจุดวิสาขประทีปเวียนประทักษิณรอบมหารัตนวิหารคด |
19.30 น. | เสร็จพิธี |