ทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2549 :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2549

ทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2549

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 ณ วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี

 

“ทอดกฐิน” อริยประเพณีที่สืบทอดมากว่า 2,500 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ จวบจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายทุกยุคทุกสมัยมีความศรัทธาเลื่อมใสว่าเป็น “ยอดของมหากุศล” จะเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้มีส่วนในการทอดกฐินนั้น ได้อานิสงส์อันยิ่งใหญ่สุดประมาณ ด้วยเหตุนี้ การทำบุญทอดกฐินจึงเป็นงานบุญที่อยู่ในใจและอยู่ในเส้นทางสัญจรของชีวิต ที่ในหนึ่งปีจะพลาดไม่ได้ เพื่อให้การทำบุญทอดกฐินในปีนี้ ดำเนินอยู่บนรากฐานของศรัทธาอย่างพุทธศาสนิกชนตามพุทธประสงค์ กล่าวคือ ทำบุญอย่างผู้เข้าใจคุณค่าและความหมายของบุญ ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่เราจะได้ศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ดังมีเรื่องราวต่อไปนี้

 

ความหมายของ “กฐิน” และ “ทอดกฐิน”

กฐิน มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมาย ดังนี้

  1. กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า “สะดึง” ก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาล การทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อน ที่เรียกว่า “จีวร” เป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า “สบง” ผ้าห่ม ว่า “จีวร” และ ผ้าห่มซ้อน ว่า “สังฆาฏิ”
  2. กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือ ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่น หรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแด่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
  3. กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญ กล่าวคือ การถวายผ้ากฐินเป็นทานแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาส เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือ ทอดหรือวางผ้าลงไป แล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือ การถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน จึงถือว่าเป็นทานที่หาโอกาสทำได้ยาก
  4. กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้ว ด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลาย จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาล การหาผ้า การทำจีวร ทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว ทรงอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว กล่าวคือ จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

 

 

 

ที่มาของประเพณีทอดกฐิน

ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ จำนวน 30 รูป เดินทางมาเฝ้าพระศาสดา แต่ไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ในระหว่างทาง พอออกพรรษาฝนยังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นก็เดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความลำบาก ระยะนั้นมีฝนตกชุก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำ เป็นโคลนเป็นตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี พระศาสดาตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลให้ทรงทราบ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาต ให้มีการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส โดยกำหนดระยะเวลา คือ นับจากวันออกพรรษา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นระยะเวลา 1 เดือน “กฐิน” จึงได้ชื่อว่าเป็น “กาลทาน”

ความพิเศษของกฐินทาน

ในปีหนึ่ง แต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นแล้วกฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นอีก ได้แก่

  1. จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
  2. จำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
  3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐิน ต้องตัด เย็บ ย้อม และครอง ให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
  4. จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
  5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
  6. จำกัดคราว คือ วัดๆหนึ่งจะรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
  7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตถวายผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น แต่ผ้ากฐินนี้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง

ประเพณีทอดกฐินในปัจจุบัน

ในช่วงเช้า เหล่าอุบาสก อุบาสิกา จะเริ่มต้นเช้าอันเป็นวันมงคล ด้วยการทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ณ อาวาสดังกล่าว ภาพพระภิกษุและสามเณรเดินเรียงรายเป็นทิวแถวด้วยอาการสงบ สีเหลืองทองของผ้ากาสาวพัสตร์ต้องแสงตะวันยามเช้า สร้างเลื่อมใสศรัทธาให้เอิบอาบในใจจิตพุทธศาสนิกชนทุกคนที่ได้พบเห็นอย่างไม่เสื่อมคลาย

 

 

พิธีทอดกฐินสามัคคี เพื่อถวายผ้ากฐินตามพระบรมพุทธานุญาต บางวัดจัดขึ้นในช่วงสายและต่อด้วยการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน อีกทั้งโดยธรรมเนียมแล้ว มักมี “บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ซึ่งไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายภายในวัด เป็นค่าน้ำค่าไฟตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้าง ทั้งส่วนซ่อมแซมและต่อเติมเสริมใหม่ ส่งผลให้กิจการพระศาสนาขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางวัดก็จะเพิ่มการปฏิบัติธรรมด้วย อย่างเช่นที่วัดพระธรรมกาย กิจกรรมทอดกฐินจะทำในช่วงบ่าย ส่วนช่วงสายนั้น ทุกคนจะได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาร่วมกัน เพื่อกลั่นใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่

 

 

กิจกรรมที่มาพร้อมกับประเพณีกฐิน คือ “ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน” ซึ่งขึ้นกับแต่ละวัด แต่ละท้องถิ่น เป็นการแสดงถึงการให้ความสำคัญของพิธีทอดกฐิน ซึ่งจัดพียงปีละครั้งเท่านั้น ริ้วขบวนอาจประกอบด้วย ขบวนธงทิว ขบวนพานพุ่มดอกไม้ โดยสาธุชนต่างพาบุตรหลานของตนมาร่วมขบวน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาไทยที่หล่อหลอมให้เยาวชนได้ใกล้วัดตั้งแต่เล็ก การได้ผ้ากฐินแบบมีเจ้าภาพ ที่ถือเป็น “คฤหบดีกฐิน” นั้น เมื่อมีผู้มาทอดผ้า ณ เบื้องหน้าคณะสงฆ์ โดยไม่ได้เจาะจงถวายแก่รูปใดรูปหนึ่ง คณะสงฆ์ต้องทำ “พิธีอปโลกน์กฐิน” หมายถึง การที่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ ถามความเห็นชอบว่า ผ้ากฐินในปีนี้ควรถวายแก่ภิกษุรูปใด ส่วน “พิธีกรานกฐิน” เป็นสังฆกรรมที่คณะสงฆ์จะทำพิธีกันในพระอุโบสถ โดยพระภิกษุผู้ได้รับการเลือกสรรจากคณะสงฆ์ว่า เป็นผู้มีสติปัญญา สามารถที่จะกรานกฐินได้

อานิสงส์จากการทำบุญทอดกฐิน

  1. ทำให้เกิดมาในตระกูลที่ดี มีสัมมาทิฐิ
  2. ทำให้ได้ลักษณะที่งดงามสมส่วน
  3. ทำให้มีผิวพรรณงดงาม
  4. ทำให้มีทรัพย์สมบัติมาก ไม่ลำบากในการแสวงหาทรัพย์
  5. เมื่อละโลกแล้วย่อมไปบังเกิดในสวรรค์

 

 

กำหนดการ

6.30 น. พิธีตักบาตร ข้าวสาร-อาหารแห้ง (เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ)
9.30 น. สวดมนต์ - นั่งสมาธิ – พิธีบูชาข้าวพระ
11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล เป็นสังฆทาน
11.15 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.30 น. นั่งสมาธิ และประกอบพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2549
15.00 น. ถวายปัจจัยสร้างศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก
16.00 น. พิธีปิดแผ่นทองเสาเข็มต้นแรก สร้าง “มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” ณ แผ่นดินดอกบัว จ.สุพรรณบุรี

 

ประมวลภาพ

พิธีตักบาตร ข้าวสาร-อาหารแห้ง เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

พิธีบูชาข้าวพระ

ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน

พิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี พ.ศ.2549

ถวายปัจจัยสร้างศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก

พิธีปิดแผ่นทองเสาเข็มต้นแรก สร้าง “มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” ณ แผ่นดินดอกบัว จ.สุพรรณบุรี

พิธีกรานกฐิน

บทความอื่นๆในหมวดนี้