วิธีเข้าถึงธรรมกายในคัมภีร์
ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙) คำว่า ธรรมกาย ในคัมภีร์พิเศษชื่อวิสุทธิมรรค ภาค ๒ ตอน มรณัสติกถา (มกุฏ. ๘ / จุฬา. ๑๕๕)
โยปิ โส ภควา อสีติอนุพฺยญฺชนปฏิมณฺฑิตทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณวิจิตฺตรูปกาโย สพฺพาการปริสุทฺธสีลกฺขนฺธาทิคุณรตนสมิทฺธธมฺมกาโย ฯเปฯ โสปิ สลิลวุฏฺฐินิปาเตน มหาอคฺคิกฺขนฺโธ วิย มรณวุฏฺฐินิปาเตน ฐานโส วูปสนฺโต ฯ
ในฎีกาของวิสุทธิมรรคชื่อ ปรมัตถมัญชุสา ฉบับ มกุฏ. ๘/๘ ขยายความว่า
ฯ... สห วาสนาย สพฺเพสํ กิเลสานํ ปหีนตฺตา สพฺพาการปริสุทฺธสีลกฺขนฺธาทิคุณรตเนหิ สมิทฺโธ ธมฺมกาโย เอตสฺสาติ สพฺพาการ ฯเปฯ ธมฺมกาโย ฯ เอวํ มหานุภาวสฺสาติ เอวํ ยถาวุตฺตรูปกายสมฺปตฺติยา, ธมฺมกายสมฺปตฺติยา จ วิญฺายมานวิปุลาปริเมยฺย-พุทฺธานุภาวสฺส, วสมาคตํ อนุรูปคมนวเสนาติ อธิปฺปาโย ฯ
ขยายความ : ความตอนนี้พระอรรถกถาจารย์ท่านอธิบายเกี่ยวกับการเจริญมรณสติกัมมัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงความตายว่า แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงสมบูรณ์พร้อมด้วยรูปกายที่วิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการเป็นต้น ที่สำเร็จมาจากบุญที่ทรงสั่งสมมาตลอดสี่อสงไขยแสนกัลป์ ดังที่ตรัสไว้ในลักขณสูตรเป็นต้น และ มีพระธรรมกายที่สถิตอยู่ภายในรูปกาย ที่สำเร็จมาจากรัตนะอันประเสริฐ อันทรงคุณานุภาพ มีศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่บริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวง เพราะละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาเสียได้ ถึงกระนั้นเมื่อถึงกาลแห่งพระชนมายุก็ยังต้องดับขันธปรินิพพาน ไปโดยพลัน ไม่ต้องกล่าวถึงเหล่าสัตว์ที่เหลือที่เพียบพร้อมไปด้วยกิเลสตัณหาเล่า นี้เป็นความโดยย่อ ต่อไปนี้ผู้เขียนจะได้ขยายความเฉพาะบทต่อไป
คำว่า สมิทฺธ ในคำว่า คุณรตนสมิทฺธธมฺมกาโย นี้ แปลว่า สำเร็จ สมบูรณ์ หรือ ทำจาก เช่น บ้านทำมาจากไม้ ช้อนทำจากแสตนเลสเป็นต้น เป็นการบอกถึงโครงสร้างหรือส่วนประกอบหลักที่สำคัญโดยรวมๆ หรือถ้าจะแปลภาษาชาวบ้าน ก็แปลว่า เข้าถึง คือ ใส่เข้าไป คือ ทำจากสิ่งนั้นโดยมาก เช่น ถ้าพูดว่า น้ำพริกถ้วยนี้ ถึงพริกถึงขิงดี ก็หมายความว่า ใส่พริกใส่ขิงไปมากจนรู้สึกเผ็ดจัด เป็นต้น
ฉะนั้น เนื้อความในอรรถกถาและฎีกาตอนนี้ จึงเป็นการบอกถึงวิธีการเข้าถึงพระธรรมกายไปโดยปริยาย ตามวิธีการที่หลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้ค้นพบ ดังนั้น เนื้อความตอนนี้ถ้าจะแปลลงในหลักปฏิบัติ จึงได้ควาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระธรรมกายที่เข้าถึง (สมิทฺธ) ได้ด้วย คุณรัตนะ คือ ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์
คำว่า ขันธ์ ในคำว่า ศีลขันธ์ เป็นต้น ซึ่งแปลว่า กอง กลุ่ม ก้อน หรือ มีคุณ ตามหลักปฏิบัติธรรมของหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านใช้คำว่า ดวง หมายถึง ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ที่มีลักษณะกลมใสประดุจแก้วมณีโชติรสใสสว่างเย็นตาเย็นใจ ดูนุ่มนวลคล้ายมีชีวิต สามารถนำผู้เข้าถึงไปสู่สุคติหรือ ทำลายกิเลสทั้งปวง ถ้าเป็นพระสัมพุทธเจ้าก็ละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาเสียได้ (สห วาสนาย สพฺเพสํ กิเลสานํ ปหีนตฺตา) ดับขันธ์แล้วจึงไปสู่พระนิพพานได้ ฉะนั้นศีลขันธ์หรือดวงศีลเป็นต้น จึงได้ชื่อว่า “คุณรัตนะ” (คุณรตเนหิ สมิทฺธ) แก้วที่มีคุณจริง ไม่ใช่แก้วภายนอกเอาไว้ประดับ หรือดูไว้อย่างมากก็ให้แสงสว่างเย็นตาเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพระสูตรที่กล่าวถึง ภิกษุผู้มีธรรมกายที่เข้าถึงได้ด้วยพระธรรมขันธ์ ๕ จึงจะเป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า ทานที่ให้ในท่านที่ประกอบด้วยพระธรรมขันธ์ ๕ จึงมีผลมาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน วัจฉโคตตสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตว่า
“ดูก่อนวัจฉะ อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หามีผลมากไม่ ทั้งท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ทั้งเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕
ละองค์ ๕ เหล่าไหนได้ คือ (นิวรณธรรมมี ๕ อย่าง คือ) ๑. กามฉันทะ ๒. พยาบาท ๓. ถีนมิทธะ ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ๕. วิจิกิจฉา ท่านผู้มีศีลละองค์ ๕ เหล่านี้ ได้แล้ว
เป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน คือ (พระธรรมขันธ์ ๕) ๑. ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของ พระอเสขะ (อเสเขน สีลกฺขนฺเธน สมนฺนาคโต โหติ) ๒. ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๓. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๔. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๕. เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่เป็นของพระอเสขะ ท่านผู้มีศีลเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ เรากล่าวว่า ทานที่ให้แล้วในท่านผู้ละองค์ ๕ ทั้งเป็นผู้มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๕ เหล่านี้ ย่อมมีผลมาก”
นี้เป็นข้อความตามพุทธวจนะที่ทรงแสดงถึงทานที่ให้ในท่านผู้ถึงพร้อมหรือเข้าถึงธรรมกาย ด้วยพระธรรมขันธ์ ว่ามีผลมาก ที่พระองค์ได้ทรงแสดงพร้อมกับแนวทางปฏิบัติธรรมของท่านผู้ที่จะเป็นพระอเสขะคือพระอรหันต์ต้องดำเนินตามนี้ แต่เนื่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับผู้มีปัญญามีบุญบารมี มีอุปนิสัยที่สมบูรณ์แล้ว ทั้งพุทธวจนะที่ใช้แสดงธรรม ก็ทรงใช้ภาษาที่ผู้นั้นจะเข้าใจได้ ให้เหมาะแก่คนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ ทุกวัย และตรัสได้เหมาะแก่อุปนิสัยเฉพาะบุคคลไป จึงมิน่าสงสัยเลยที่คนในสมัยพุทธกาลนั้น ฟังเพียงเท่านี้ก็เข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายได้
แต่เป็นการยากที่จะเข้าใจและนำไปปฏิบัติสำหรับ คนสมัยนี้ ซึ่งมีบุญบารมีน้อย ทำให้ใส่ใจเฉพาะวัตถุภายนอกมากไป ไม่มีเวลาใฝ่ใจในธรรมะ โดยเฉพาะธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้ง ถูกถ่ายทอดมาทางภาษาที่ลึกซึ้งคือภาษาบาลี ต้องอาศัยจิตใจที่ละเอียดประณีตจึงจะเข้าใจเนื้อความในพุทธวจนะได้แจ่มแจ้ง ถึงกระนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการ สูญเปล่าเสียทีเดียว ที่พวกเราได้เกิดทันพบคำสอนและแนวการปฏิบัติธรรมตรงตามพุทธพจน์ที่พระเดชพระคุณพระ-มงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้มีบุญบารมีอันเป็นอจินไตย ท่านได้กระทำ ให้เข้าใจง่าย ให้เหมาะแก่ปัญญาของพวกเราสมัยนี้ สามารถปฏิบัติได้ทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา สามารถเข้าถึงธรรมได้ ซึ่งในปัจจุบันเราก็สามารถจะพิสูจน์ได้ จากหลักปฏิบัติธรรมของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ซึ่งผู้ที่เข้าถึงธรรมก็ยังมีอยู่มาก
เนื้อความในพระสูตรข้างต้นนี้ ผู้เขียนจะขอเทียบเคียงเป็นคำสอนของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีดังนี้
คำว่า ละองค์ ๕ หรือนิวรณธรรม และประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ นั้น หลวงปู่วัดปากน้ำท่านใช้คำง่ายๆ ว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หยุดใจไว้ภายในตัว ซึ่งในพระบาลีสูตรต่างๆ ใช้คำว่า อชฺฌตฺตํ วูปสนฺตจิตฺโต หรือ อชฺฌตฺตเมว จิตฺตํ สณฺฐเปตพฺพํ สนฺนิสาเทตพฺพํ เอโกทิ กาตพฺพํ สมาทหาตพฺพํ (๑๔/๑๘๗/๒๔๓) แปลว่า หยุดจิตตั้งมั่นแนบแน่น ภายในตัวเท่านั้น ทำให้เป็นธรรมดวงเอกผุดขึ้น ซึ่งหลวงปู่วัดปากน้ำได้ย้ำให้หนักไปอีกว่า “และต้อง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ด้วย” จึงจะละนิวรณธรรมทั้ง ๕ และจะประกอบด้วยธรรมขันธ์ ๕ ได้
ถามว่า ถ้าหยุดใจไว้นอกตัวละนิวรณธรรมได้หรือไม่ ขอตอบว่า ได้เหมือนกัน แต่จะไม่มาตามพร้อมแล้วด้วยองค์ ๕ คือไม่พบพระธรรมขันธ์ ๕ ดังเช่นพวกพาหิรกนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา มีพวกฤาษี ดาบสเป็นต้น แม้ได้อภิญญา ๕ ก็ไม่เข้าถึงธรรมขันธ์ ๕ จึงไม่พบพระธรรมกาย เพราะเอาใจไว้ภายนอกตัว ต้องหยุดใจไว้ภายในตัว ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จึงจะเข้าถึงพระธรรมกายด้วยพระธรรมขันธ์ ๕
คำว่า ประกอบด้วย (สมนฺนาคโต โหติ) ในอรรถกถาบางแห่งมีวิสุทธิมรรคเป็นต้น ท่านใช้คำว่า อุเปโต โหติ สมุเปโต อุปปนฺโน สมุปปนฺโน แปลว่า เข้าถึง ซึ่งตรงกับ คำกล่าวของหลวงปู่วัดปากน้ำ บอกถึงการที่ต้องดำเนินจิตเข้าไปภายในเรื่อยไป จึงจะพบธรรมขันธ์ ๕ คือ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะตามลำดับไม่สับสน จนเข้าถึงพระธรรมกายภายในตน ฯ
คำว่า ขันธ์ ซึ่งแปลว่า กอง กลุ่ม ก้อน หมวด หรือ มีคุณประโยชน์ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำฯ ท่านใช้คำว่า ดวง ซึ่งมีลักษณะกลมใส เป็นธรรมขันธ์ที่เห็นได้ด้วยใจ ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ในพระสูตรนี้ ได้บอกจำแนกความไว้ชัดเจนขึ้น ป้องกันความสงสัยในพุทธพจน์ที่ว่า คราวแรกพระองค์ตรัสแล้วมิใช่หรือว่า เป็นผู้มีศีล และ ละนิวรณ์ ๕ ได้แล้วก็น่าจะหมายถึงมีศีลและมีสมาธิอยู่แล้วมิใช่หรือ เหตุใดพระองค์จึงตรัสศีลขันธ์ และสมาธิขันธ์ ซ้ำอีกเล่า ถ้าจะกล่าวความให้ชัดตามหลักปฏิบัติของหลวงปู่วัดปากน้ำฯ ก็พอจะอธิบายได้ว่า
คำว่า เป็นผู้มีศีล นั้นหมายถึงศีลในหลักปริยัติ ปฏิบัติเพื่อความ สงบกายวาจา เป็นไปเพื่ออุปจารสมาธิ
แต่ ศีลขันธ์ ที่พระองค์ตรัสนั้นหมายถึง ศีลที่เข้าถึงได้ เป็นอธิศีล เกิดขึ้นหลังจากละนิวรณ์ ๕ เบื้องต้นอันเป็นอุปจารสมาธิ จะเห็นศีลขันธ์ เป็นดวงใสในที่นี้หมายถึง โลกุตตรศีล เห็นได้ด้วยใจ เห็นแล้วมีความสุข ชุ่มชื่นเบิกบาน แสดงถึงความเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ขาดไม่ทะลุ ไม่ด่างไม่พร้อย จะเห็นชัดตัดความสงสัยได้ เป็นไปเพื่อสมาธิขันธ์ (ดวงสมาธิ ที่เป็นอัปปนาสมาธิ ในที่นี้คือโลกุตตรสมาธิ) และนำการสลัดออกจากภพ ทั้งเป็นภูมิแห่งปัจจเวกขณญาณ (ภวนิสฺสรณาวหํ โหติ ปจฺจเวกฺขณญาณสฺส จ ภูมิ ฯ วิสุทธิมรรค ภาค ๑ หน้า ๑๖)
คำว่า ละองค์ ๕ (นิวรณ์) ได้นั้น หมายถึง การที่ใจหยุดนิ่งเบื้องต้น เป็นอุปจารสมาธิ เพราะละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว แต่ยังไม่เป็นดวงใสบริสุทธิ์ องค์ฌานทั้งหลายจึงยังไม่เกิดกำลัง (อุปจารภูมิยํ นีวรณปฺปนาเนน จิตฺตํ สมาหิตํ โหติ อุปจาเร องฺคานิ น ถามชาตานิ โหนฺติ วิสุทธิมรรค ๑ หน้า ๑๖๐)
ส่วนคำว่า สมาธิขันธ์ หรือดวงสมาธินั้น หมายถึง ความที่จิตตั้งมั่นแนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปแล้ว จะเห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์โดยธรรมชาติ เป็นโลกุตตรสมาธิ เกิดขึ้นต่อจากศีลขันธ์หรือดวงโลกุตตรศีล องค์ฌานทั้งหลาย เป็นธรรมชาติมีกำลัง จิตหมดจดจากอันตรายคือนิวรณ์ตัวกางกั้น ย่อมดำเนินสู่สมถนิมิตอันเป็นสายกลาง (วิสุทฺธตฺตา อาวรณวิรหิตํ หุตฺวา มชฺฌิมํ สมถ นิมิตฺตํ ปฏิปชฺชติ ฯ วิสุทธิมรรค ๑ หน้า ๑๘๙) ได้เป็นปฏิปทาวิสุทธิ ดำเนินถูกทาง และเป็นไปโดยสม่ำเสมอ เพราะเว้นจากความท้อถอยและฟุ้งซ่าน ถึงความสงบอย่างวิเศษ และเป็นเหตุแห่งความสุขอย่างยิ่งของพระโยคาวจร ฉะนั้น พระพุทธองค์ จึงตรัสเรียงลำดับแห่งการปฏิบัติที่เข้าถึงได้จริง มิได้ตรัสซ้ำสับสนกันดังที่อาจจะสงสัย หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนเช่นนั้นได้
คำว่า เป็นของพระอเสขะ คือ เป็นของพระอรหันต์ ผู้ไม่ต้องศึกษาเรื่องไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดัง กัลยาณปุถุชนและพระอริยบุคคลที่เหลืออีก เพราะศีลขันธ์หรือดวงศีลเป็นต้นในที่นี้ เป็นโลกุตตรธรรม ที่จะให้เข้าถึงพระธรรมกายอรหัต สามารถทำลายกิเลสทั้งปวงได้ จึงเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า ฉะนั้น จึงเป็นการยืนยันได้ว่า การปฏิบัติธรรมตามวิธีการนี้ เป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ควบคู่กันไปตั้งแต่เบื้องต้นจนอวสาน
ฉะนั้น เมื่ออธิบายถอดความตามพุทธวจนะนี้ตามหลักปฏิบัติธรรมของหลวงปู่วัดปากน้ำ จึงได้ความว่า หยุดใจไว้ภายในตัว ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ย่อมละ นิวรณธรรม ๕ ได้ และจะเข้าถึงดวงธรรม ๕ คือ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะตามลำดับ เห็นกายในกาย จนเข้าถึงพระธรรมกายอรหัต ด้วย ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะที่เป็นโลกุตตระอย่างบริบูรณ์ จึงสามารถทำลายกิเลสได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้ว จนเป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลกได้ ทานที่ให้ในท่านผู้มีศีลผู้ปฏิบัติตามนี้ จึงชื่อว่ามีผลมาก และนั่นก็หมายความว่า การปฏิบัติตามพุทธวจนะของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ นี้ เป็นการปฏิบัติทั้ง สมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เพราะท่านกล่าวถึงการละนิวรณธรรม ๕ ซึ่งเป็นเครื่องกั้นขวางมิให้ใจสงบได้ก่อน (เป็นสมถะ) และกล่าวถึงการเข้าถึงธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยธรรมขันธ์ ๕ อันเป็นโลกุตตรธรรม
ดังนั้น ผู้สนใจปฏิบัติ เมื่อพบคำว่า ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ และวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ กล่าวไว้ในที่ใดในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จึงพึงเข้าใจเถิดว่า ท่านกล่าวหมายเอาวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย แต่พระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์ท่านได้กล่าวไว้โดยย่อว่า สีลกฺขนฺธาทิคุณรตนสมิทฺธธมฺมกาโย แปลถอดความว่า ผู้มีธรรมกายหรือเป็นธรรมกายที่เข้าถึงด้วยรัตนที่มีคุณานุภาพคือ ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ
ส่วนคำว่า ความตายแผ่อำนาจไปถึง ด้วยอำนาจไปถึงตามสมควร ท่านหมายถึง ความตายแผ่อำนาจไปถึงคือตัดได้เฉพาะรูปกายและวิบากที่เป็นปัจจุบัน อันเสมอทั่วไปแก่สรรพสัตว์ที่ยังมีกิเลส แต่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียกว่า ดับขันธปรินิพพาน คือ ดับกิเลส ขันธ์ ๕ พร้อมทั้งวิบากได้เด็ดขาด จึงชื่อว่า นิพพานสูญ คือ สูญจากกิเลสอันเป็นเหตุแห่งวิบากในอนาคต และ รูปนามขันธ์ ๕ ที่เป็นโลกียะ ที่พระองค์ตรัสเรียกว่า “อนัตตา” แปลว่า ไม่ใช่อัตตาหรือเป็นสมมติอัตตา ที่ปุถุชนและเจ้าลัทธิสัสสตทิฏฐิยึดมั่นว่าเป็น “อัตตา” แต่มิใช่ขาดศูนย์ ดังที่เจ้าลัทธิอุจเฉททิฏฐิเข้าใจกัน เพราะมีพระธรรมกายที่เป็นวิสุทธิอัตตา ที่สูญจากกิเลสและวิบากทั้งปวง ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมนั้น เป็นสภาพเที่ยง เป็นสุข เสมอด้วยอายตนนิพพาน อันมัจจุคือความตายแผ่อำนาจไปไม่ถึง ได้ไปสถิตถาวร ณ อายตนนิพพาน อันเป็นบรมสุข ซึ่งไม่มีอยู่ในโลกคือ ขันธ์ ๕ นี้
ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โลกสูญ เพราะสูญจากพระนิพพานและวิสุทธิอัตตา คือ ธรรมกาย ซึ่งมีสภาพเที่ยง เป็นสุข และ พระนิพพานก็ชื่อว่า สูญอย่างยิ่ง เพราะสูญจากโลก คือสิ่งที่เป็นอนัตตาหรือสมมติอัตตา มีรูปขันธ์เป็นต้น ซึ่งมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ที่มัจจุคือความตายแผ่อำนาจไปถึง เพราะเหตุนั้น พระฎีกาจารย์จึงกล่าวว่า ความตายแผ่อำนาจไปถึง ด้วยอำนาจไปถึงตามสมควร ด้วยประการฉะนี้ ฯ