พระธรรมกาย พระคุณลักษณ์ที่แท้จริงแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)
หลักฐานที่แสดงถึงพระคุณลักษณ์ของพระธรรมกายอันเป็นองค์พระสัมพุทธเจ้าที่แท้จริงปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๔ คัมภีร์ด้วยกัน คือ
๑. ในพระคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย (เถรคาถา) ชื่อปรมัตถทีปนี ภาค ๒ เล่มที่ ๓๓ ข้อ ๒๙๐ หน้า ๑๙ ว่า
พาตฺตึสวรมหาปุริสลกฺขณอสีติอนุพฺยญฺชนาทิปฏิมณฺฑิตรูปกายตาย ทสพลจตุเวสารชฺชาทิคุณปฏิมณฺ ฑิตธมฺมกายตาย จ สเทวเกน โลเกน อปริเมยฺยทสฺสนตาย อสทิสทสฺสนตาย จ อตุลทสฺสนํ ฯ แปลว่า : ชื่อว่า ผู้ทรงมีการเห็นหาผู้เปรียบปานมิได้ เพราะมีพระรูปกายอันประดับด้วย มหาปุริสลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ และ อนุพยัญชนะ ๘๐ แลเพราะมีพระธรรมกายอันประดับด้วยคุณ มีทศพลญาณ และจตุเวสารัชชญาณ เป็นต้น และมีทัสสนะอันชาวโลกทั้งสิ้นจะพึงประมาณมิได้ และเพราะมีทัสสนะหาผู้เสมอเหมือนมิได้
๒. ในพระคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย (พาหิยสูตรอุทาน) ชื่อ ปรมัตถทีปนี เล่มที่ ๒๖ ข้อ ๑๐ หน้า ๙๐-๙๑ ว่า
ปาสาทิกนฺติ พตฺตึสมหาปุริสลกฺขณอสีติอนุพฺยญฺชนพฺยามปฺปภาเกตุมาลาลงฺกตาย สมนฺตปาสาทิกาย อตฺตโน สรีรโสภาสมฺปตฺติยา รูปกายทสฺสนพฺยาวฏสฺส ชนสฺส สพฺพภาคโต ปสาทาวหํ. ปสาทนียนฺติ ทสพลจตุเวสารชฺชฉอสาธารณญาณอฏฺฐารสอาเวณิกพุทฺธธมฺมปฺปภุติอปริมาณคุณคณสมนฺนาคตาย ธมฺมกายสมฺปตฺติยา สริกฺขกชนสฺส ปสาทนียํ ปสีทิตพฺพยุตฺตํ ปสาทารหํ วา . แปลว่า : บทว่า ปาสาทิกํ ความว่า นำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้านแก่ชนผู้ขวนขวายในการเห็นพระรูปกาย เพราะความสมบูรณ์ด้วยความงามแห่งสรีระของพระองค์ อันนำความเลื่อมใสมารอบด้าน อันประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ พระอนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีด้านละวา และพระเกตุมาลารัศมีที่เปล่งเหนือพระเศียร บทว่า ปสาทนียํ ความว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส เหมาะที่จะควรเลื่อมใส หรือควรแก่ความเลื่อมใสของผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ เพราะความถึงพร้อมแห่งพระธรรมกายอันประกอบด้วยจำนวนพระคุณหาประมาณมิได้ มีทศพลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ อาเวณิคพุทธธรรม ๑๘ เป็นต้น เอตฺถ จ ปาสาทิกนฺติ อิมินา รูปกาเยน ภควโต ปมาณภูตตํ ทีเปติ , ปสาทนียนฺติ อิมินา ธมฺมกาเยน , สนฺตินฺทฺริยนฺติอาทินา เสเสหิ ปมาณภูตตํ ทีเปติ , แปลว่า : ก็ด้วยบทว่า ปาสาทิกํ นี้ ในอธิการนี้ ท่านแสดงถึงความสำคัญของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยรูปกาย , ด้วยบทว่า ปสาทนียํ นี้ แสดงถึงความสำคัญของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยธรรมกาย
๓. ในพระคัมภีร์ อรรถกถาขุททกนิกาย (รัชชุมาลาวิมานวัตถุ) ชื่อ ปรมัตถทีปนี เล่มที่ ๓๐ ข้อ ๘๓๙ หน้า ๒๔๖ ว่า
ปาสาทิกนฺติ ปสาทาวหํ, ทวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณอสีตฺยานุพฺยญฺชนพฺยามปฺปภาเกตุมาลาลงฺกตาย สมนฺตปาสาทิกาย อตฺตโน สรีรโสภาสมฺปตฺติยา รูปกายทสฺสนพฺยาวฏสฺส ชนสฺส สาธุภาวโต ปสาทสํวฑฺฒนนฺติ อตโถ . ปสาทนียนฺติ ทสพลจตุเวสารชฺชฉอสาธารณญาณอฏฺฐารสาเวณิกพุทฺธธมฺมปภุติอปริมาณคุณสมนฺนาคตาย ธมฺมกายสมฺปตฺติยา สริกฺขกชนสฺส ปสีทิตพฺพยุตฺตํ, ปาสาทิกนฺติ อตฺโถ. แปลว่า : บทว่า ปาสาทิกํ แปลว่า นำมาซึ่งความเลื่อมใส อธิบายว่า เป็นผู้ทำความเลื่อมใสให้เจริญยิ่งขึ้น เพราะความถึงพร้อมด้วยความงามแห่งพระสรีระของพระองค์อันประดับประดาด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ พระอนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีข้างละวา และพระเกตุมาลาที่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสทั่วไป เป็นของให้สำเร็จประโยชน์สำหรับชนผู้ขวนขวายจะดูรูปกาย บทว่า ปสาทนียํ คือ ทรงประกอบด้วยพระธรรมกายสมบัติอันพรั่งพร้อมด้วยพระคุณอันหาประมาณมิได้ คือ ทศพลญาณ ๑๐ จตุเวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ และเป็นแดนเกิดแห่งพระพุทธธรรมอันประเสริฐ ๑๘ ประการ ที่ชนผู้เห็นสมณะจะพึงเลื่อมใส อธิบายว่า เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
๔. ในพระคัมภีร์อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ชื่อ ปรมัตถทีปนี เล่มที่ ๒๗ หน้า ๑๓ ว่า
เอตฺถ จ ภควตาติ อิมินาสฺส ภาคฺยวนฺตตาทีปเนน กปฺปานํ อเนเกสุ อสงฺเขยยฺเยสุ อุปจิตปุญฺญสมฺภารภาวโต สตปุญฺญลกฺขณธรสฺส ทวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณอสีติอนุพฺยญฺชนพฺยามปฺปภาเกตุมาลาทิปฏิมณฺฑิตา อนญฺญสาธารณา รูปกายสมฺปตฺติ ทีปิตา โหติ . อรหตาติ อิมินาสฺส อนวเสสกิเลสปฺปหานทีปเนน อาสวกฺขยปทฎฺฐานสพฺพญฺญุตญญาณาธิคมปริทีปนโต ทสพลจตุเวสารชฺชฉอสาธารณญาณอฏฺฐารสาเวณิกพุทฺธธมฺมาทิอจินฺเตยฺยาปริเมยฺยธมฺมกายสมฺปตฺติ ทีปิตา โหติ.ฯ แปลว่า : ด้วยบทว่า ภควตา นี้ ท่านแสดงถึงความถึงพร้อมด้วยพระรูปกาย อันไม่สาธารณ์แก่บุคคลอื่น อันประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อนุพยัญชนะ ๘๐ และพระเกตุมาลามีรัศมีแผ่ไปได้ประมาณ ๑ วา ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ผู้ชื่อว่าทรงบุญลักษณะไว้ตั้ง ๑๐๐ เพราะทรงมีบุญสมภารที่ทรงสั่งสมไว้หลายอสงไขยกัป ด้วยการแสดงว่าพระองค์ทรงคายภาคยธรรมได้แล้ว ด้วยบทว่า อรหตา นี้ ท่านแสดงถึงความถึงพร้อมด้วยพระธรรมกายที่เป็นอจินไตย อาทิ ทศพลญาณ ๑๐ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ และอาเวณิกพุทธธรรม ( ธรรมเฉพาะพระพุทธเจ้า ) ๑๘ เพราะแสดงการบรรลุสัพพัญญุตญาณมีการสิ้นอาสวะเป็นปทัฏฐาน โดยการแสดงการละกิเลสที่ไม่มีส่วนเหลือ .
ขยายความ : เครื่องกำหนดหมายหรือลักษณะที่ทำให้เราได้ทราบว่าผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักฐานในคัมภีร์ดังกล่าวข้างต้น พอสรุปได้ ๒ ประการ คือ
๑. ลักษณะรูปกาย ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดหมายภายนอกที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยมังสจักษุ (ตาเนื้อ)
รูปกายของพระองค์ต้องประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ และประดับด้วยอนุพยัญชนะ คือ ลักษณะพิเศษเล็ก ๆ น้อย ๆ อีก ๘๐ ประการ หาผู้ใดเปรียบปานมิได้ และรุ่งเรืองด้วยพระรัศมีที่แผ่ซ่านออกจากพระสรีระกายตามปกติอีกประมาณวาหนึ่ง อันเกิดแต่การสั่งสมบุญมานับภพนับชาติมิถ้วน จึงเป็นที่ดึงดูดนัยนาคือมังสจักษุและทิพยจักษุของเหล่ามนุษย์และเทวาทั้งหลาย
๒. ลักษณะของพระธรรมกายภายในของพระองค์
อันเกิดจากการสั่งสมบารมีธรรมของพระองค์ตลอดสี่อสงไขยแสนกัลป์ ที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีกล่าวไว้ว่า ประดุจรูปพระพุทธปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องหน้า มีพระรัศมีสว่างไสวหาประมาณมิได้ งามยิ่งนักหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก แต่ในที่นี้ท่านกล่าวเฉพาะคุณลักษณ์คือ คุณธรรมพิเศษภายในของพระธรรมกายอีกมากมาย มี ทศพลญาณ ๑๐ จตุ-เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ อาเวณิกพุทธธรรม ๑๘ ประการ เป็นต้น ซึ่งมีเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ทั่วไปแก่พระธรรมกายของพระปัจเจกพุทธและสาวกพุทธทั้งหลาย สุดที่จะพรรณนาพระคุณสมบัติภายในแห่งพระธรรมกายสัมพุทธเจ้าให้หมดสิ้นได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาจังกีสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ว่า
แม้พระพุทธเจ้าจะพึงกล่าวคุณของพระพุทธเจ้า หากกล่าวคุณของกันและกันไปตลอดกัป กัปพึงสิ้นไปในระหว่างเป็นเวลาช้านาน พระคุณของพระตถาคตหาสิ้นไปไม่ ฯ
พระธรรมกายนี้เป็นองค์พระสัมพุทธเจ้าที่แท้จริงอันมาพร้อมด้วยคุณพิเศษดังกล่าว อันบุคคลผู้เจริญสมาธิภาวนาจนเข้าถึงพระธรรมกายภายใน แล้วอาศัยปัญญาจักษุอันเป็นโลกุตตระ(ตาธรรมกาย) จึงจะสามารถเห็นพระธรรมกายของพระพุทธองค์ได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาขุททกนิกาย สุตตนิบาตว่า "นายธนิยเห็นแล้ว ซึ่งพระธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยปัญญาจักษุ เป็นต้น " การเห็นแบบนี้เป็นการเห็นพระสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง ควรแก่ความเลื่อมใสของผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ คือเห็นได้ด้วยญาณทัสสนะ ดุจเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ฉะนั้น
พระคุณลักษณ์ภายในแม้จะลุ่มลึกยากที่จะรู้ได้ แต่ยังพอกำหนดได้โดยอาศัยแนวแห่งธรรม เช่น ทรงแสดงธรรมได้แจ่มชัดตามอัธยาศรัยของผู้ฟัง สมบูรณ์ด้วยปาฏิหาริย์ ๓ เป็นต้น ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสัมปสาทนียสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคว่า
"ดูก่อนสารีบุตร ก็เธอไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคตและปัจจุบันเหล่านั้น เหตุไฉน เธอจึงหาญกล้าเปล่งวาจาอย่างองอาจยิ่งนี้ ได้บันลือสีหนาทเป็นการเด็ดขาดลงไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า ทั้งอดีต อนาคตและปัจจุบัน ไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นใด ที่จะมีสติปัญญายิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าในพระปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถึงว่าข้าพระองค์ดจะไม่มีเจโตปริยญาณในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีในอดีต อนาคตและปัจจุบันก็จริง แต่ข้าพระองค์ก็ทราบนัยที่เป็นไปตามแนวแห่งธรรมได้" หรือเหมือนดัง ท่านพระปุกกุสาติออกบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความเลื่อมใส แต่ท่านไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย เมื่อพบพระผู้มีพระภาคก็ไม่รู้จัก เพราะเป็นเวลากลางคืน และเพราะพระพุทธองค์ทรงปกปิดพระลักษณะและพระรัศมีไว้ แต่เมื่อทรงแสดงธรรมเรื่องการจำแนกธาตุจบ และท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี จึงได้ทราบว่าเป็นพระพุทธองค์ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ว่า พ. ดูก่อนภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นหรือ และเมื่อท่านเห็นแล้วจะรู้จักไหม ? ปุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก. ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา ไฉนหนอ เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา ...ฯลฯ... เมื่อทรงแสดงธรรมจบ ท่านพระปุกกุสาติจึงทราบแน่นอนว่า พระศาสดาพระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดเราแล้ว พระองค์เสด็จมาโปรดเราแล้ว ฯ
ข้อที่น่าสังเกตในเรื่องของท่านพระปุกกุสาติ คือ เบื้องแรกท่านไม่รู้จักทั้งไม่เคยเห็นพระรูปกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ถึงแม้เห็นแล้วก็ไม่รู้จัก ได้ยินแต่กิตติศัพท์ของพระองค์ ต่อเมื่อฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแล้ว จึงบรรลุธรรมกายพระอนาคามี ใช้ปัญญาจักษุ (ตาธรรมกาย) ของพระอนาคามี จึงเห็นธรรมกายของพระพุทธองค์ จึงรู้พระคุณสมบัติแห่งพระธรรมกายภายในของพระองค์ จึงได้ทราบแน่นอนว่า ท่านผู้นี้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
ดังนั้น การที่จะทราบได้ว่าท่านผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอนได้นั้น จึงต้องรู้เห็นลักษณะทั้ง ๒ ประการ คือ (๑) พระรูปกายอันทรงไว้ซึ่งลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการเป็นต้น ซึ่งเป็นลักษณะภายนอก สามารถมองเห็นได้ด้วยมังสจักษุเป็นต้นไป และ (๒) พระธรรมกายอันทรงไว้ซึ่งลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการเป็นต้น พร้อมด้วยพระคุณธรรมภายในแห่งพระธรรมกาย ซึ่งต้องเห็นด้วยปัญญาจักษุของพระธรรมกายด้วยกัน
เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า "รูปกาเยน ภควโต ปมาณภูตตํ ทีเปติ, ปสาทนียนฺติ อิมินา ธมฺมกาเยน.”
แปลถอดความว่า ท่านแสดงประมาณ คือหลักสำคัญหรือลักษณะของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสไว้ด้วยพระรูปกาย และด้วยพระธรรมกาย ดังพรรณนามาฉะนี้แล ฯ