ผลแห่งบารมี ธรรมกาย ตัวตนที่แท้จริง :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ผลแห่งบารมี ธรรมกาย ตัวตนที่แท้จริง

ผลแห่งบารมี ธรรมกาย ตัวตนที่แท้จริง

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

คำว่า "ธรรมกาย" ในคัมภีร์อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ชื่อ ปรมัตถทีปนี เล่ม ๕๑ หน้า ๓๘๔ ว่า

กึ ผลนฺติ ? สมาสโต ตาว สมฺมาสมฺพุทฺธภาโว เอตาสํ ผลํ, วิตฺถารโต ปน ทฺวตฺตึสมหาปุริสลกฺขณอสีติอนุพฺยญฺชนพฺยามปฺปภาทิอเนกคุณคณสมุชฺชลรูปกายสมฺปตฺติอธิฏฺฐานทสพลจตุเวสารชฺชฉอสาธารณญาณอฏฺฐารสาเวณิกพุทฺธธมฺมปฺปภุติอนนฺตาปริมาณคุณสมุทโยปโสภินี ธมฺมกายสิรี. ฯเปฯ , อิทเมตาสํ ผลํ ฯ

แปลว่า : ถามว่า อะไรเป็นผล (ของบารมี) ? ตอบว่า กล่าวโดยย่อ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผลของบารมีเหล่านั้น. กล่าวโดยพิสดาร สิริ(ความเป็นใหญ่ ความเจริญหรือความงดงาม)แห่งธรรมกายอันงดงามทั่วไปตั้งขึ้นด้วยคุณหาประมาณมิได้ ไม่มีสิ้นสุดตั้งแต่สมบัติของรูปกายอันรุ่งเรืองด้วยหมู่คุณไม่น้อยมีอาทิ มหาปุริสลักษณะ ๓๒ อนุพยัญชนะ ๘๐ พระรัศมีวาหนึ่ง เป็นต้น อธิษฐานธรรม ทศพลญาณ เวสารัชชญาณ ๔ อสาธารณญาณ ๖ พุทธธรรม ๑๘ หมวด ฯลฯ นี้เป็นผลของบารมีเหล่านั้น ฯ

คำว่า "ธรรมกาย" ในคัมภีร์อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก (ปกิณฺณกกถา) ชื่อปรมัตถทีปนี เล่ม ๕๑ หน้า ๓๒๔ ว่า

อถ วา ปรํ สตฺตํ อตฺตนิ มวติ พนฺธติ คุณวิเสสโยเคน, ปรํ วา อธิกตรํ มชฺชติ สุชฺฌติ สงฺกิเลสมลโต, ปรํ วา เสฏฺฐํ นิพฺพานํ วิเสเสน มยติ คจฺฉติ, ปรํ วา โลกํ ปมาณภูเตน ญาเณวิเสเสน อิธโลกํ วิย มุนาติ ปริจฺฉินฺทติ ฯ ปรํ วา อติวิย สีลาทิคุณคณํ อตฺตโน สนฺตาเน มิโนติ ปกฺขิปติ, ปรํ วา อตฺตภูตโต ธมฺมกายโต อญฺญํ ปฏิปกฺขํ วา ตทนตฺถกรํ กิเลสโจรคณํ มินาติ หึสตีติ ปรโม, มหาสตฺโต ฯ

แปลว่า : อีกอย่างหนึ่ง บารมี ย่อมผูกสัตว์อื่นไว้ในตน ด้วยการประกอบคุณวิเศษ หรือบารมี ย่อมขัดเกลาสัตว์อื่นให้หมดจดจากมลทิน คือ กิเลส หรือบารมี ย่อมถึงนิพพานอันประเสริฐที่สุดด้วยคุณวิเศษ หรือบารมีย่อมกำหนดรู้โลกอื่น ดุจรู้โลกนี้ ด้วยคุณวิเศษ คือ ญาณอันเป็นการกำหนดแล้ว หรือบารมี ย่อมตักตวงคุณมีศีลเป็นต้นอื่น ไว้ในสันดานของตนเป็นอย่างยิ่ง หรือบารมี ย่อมทำลายเบียดเบียนปฏิปักษ์อื่นจาก ธรรมกาย อันเป็นอัตตา หรือทำลายเบียดเบียนหมู่โจรคือกิเลส อันทำความพินาศแก่ ธรรมกาย อันเป็นอัตตานั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปรมะ สัตว์ใดประกอบด้วยปรมะ ดังกล่าวนี้ สัตว์นั้น ชื่อว่า มหาสัตว์ ฯ

ขยายความ : พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงผลแห่งบารมีธรรม โดยย่อ คือ ทำพระโพธิสัตว์ผู้ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมเต็มเปี่ยมแล้ว ให้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนโดยพิสดาร คือ ความพอกพูนเจริญขึ้นของพุทธภาวะภายใน คือ ธรรมกาย อันเป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเกิดมีขึ้นในที่สุดแห่งอรหัตมรรคญาณ อันเป็นตัวกำจัดข้าศึก คือกิเลสทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ยึดถือ สิ่งมิใช่ตัวตน ว่าเป็นตัวตนมานาน พร้อมวาสนาที่ไม่ดีเสียได้ และพระคุณสมบัติของพระธรรมกายสัมพุทธเจ้าอันประดับด้วยคุณวิเศษหาประมาณมิได้ มีอธิษฐานธรรม และทศพลญาณเป็นต้น

หากจะมีคำถามว่า สิ่งที่มิใช่อัตตา (อนัตตา) คืออะไร ? และสิ่งที่เป็นอัตตาที่แท้จริงมีหรือไม่ ? ผู้เขียนจะได้กล่าวเฉลยต่อไป

สมมุติอัตตา (อนัตตา)

จากคำถามที่ว่า สิ่งที่มิใช่อัตตาคืออะไรนี้ ผู้เขียนมิต้องกล่าวเฉลยอีก เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉลยไว้แล้วใน สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ว่า

เรื่องเกิดขึ้นในพระนครสาวัตถี ท่านพระราธะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อนัตตา อนัตตา อนัตตา ดังนี้ อะไรหนอเป็นอนัตตา" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า "ดูก่อนราธะ รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ดูก่อนราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี"

คำเฉลยของพระผู้มีพระภาคเจ้าเกี่ยวกับ สิ่งที่มิใช่ตัวตนที่ปุถุชนยึดถือว่า เป็นตัวตนนี้ เป็นคำเฉลยโดยรวบยอด (ย่อ) แต่เมื่อว่าโดยพิสดารย่อมมีชื่อมากมาย แต่ก็ไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ นี้เลย ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถา ชื่อ สัมโมหวิโนทนี ว่า "วัตถุเครื่องยึดถือว่าตนและของเนื่องด้วยตนนี้มีขันธ์ ๕ เป็นอย่างยิ่ง และเพราะความที่ธรรมอื่นๆ ก็ไม่นอกจากขันธ์ ๕ นั้น" ข้อนี้สมกับพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อรูปมีอยู่ ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) อาศัยรูป ยึดมั่นรูปย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เอตํ มม, เอโสหมสฺมิ, เอโส อตฺตา, นี้ของเรา เราเป็นนี้ นี้อัตตาของเรา เป็นต้น"

เมื่อกล่าวโดยพระสูตรก็ได้แก่ จิตหรืออัตตภาพ (กาย) ในภพสามทั้งมวล ที่ปุถุชนยึดถือด้วยอำนาจตัณหาทิฏฐิและมานะแล้วแสดงออกถึงความเป็นอัตตาสมมุตที่เรียกว่า "เรา" และสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา (อตฺตนีย) ว่า "ของเรา" อันเกิดแต่กุศลธรรมคือบุญและอกุศลธรรมคือบาปปรุงแต่ง ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลธรรม ย่อมปรุงแต่งให้ได้อัตตภาพคือกายอันเลว หยาบ เพื่อให้ได้เสวยผลของวิบากอันเผ็ดร้อน ได้แก่ กายของสัตว์ผู้เกิดในทุคติภูมิ คือ สัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก ถ้าเป็นฝ่ายกุศลธรรมคือบุญ ย่อมปรุงแต่งให้ได้อัตตภาพคือกายอันประณีต ละเอียด เพื่อให้ได้เสวยผลของวิบากอันเป็นสุข ได้แก่ กายของสัตว์ผู้เกิดในสุคติภูมิ ได้แก่ มนุษย์ เทพ พรหม อรูปพรหม

ก็แต่ว่ากายเหล่านี้อันประกอบด้วยขันธ์ ๕ แม้ประณีตแสนประณีตแต่ก็ยังเป็นโลกิยกุศลธรรม ยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่ควรยึดมั่นว่า "เป็นตัวตนที่แท้จริง"ดังที่ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตรว่า "สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวน(เป็นอนัตตา)เป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา" ฉะนั้นสภาวะที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ทั้งสิ้นที่ปุถุชนยึดถือว่า เป็นอัตตา แต่เมื่อว่าโดยนามบัญญัติอันแสดงโทษของขันธ์พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นอนัตตา (เป็นสิ่งมิใช่อัตตาแท้จริง)

ดังนั้น อัตตาโดยสมมุติจึงเป็นอนัตตาตามความหมายของพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ให้ละความยินดีด้วยอำนาจความพอใจในสิ่งที่เป็นอนัตตา อันไม่มีสาระแก่นสารเสีย ดังที่ตรัสไว้ในตติย ฉันทราคสูตร เป็นต้นว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย" แล้วให้แล่นไปในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นอนัตตา คือ พระนิพพานอันเป็นที่ดับสิ่งที่เป็นอนัตตา มีขันธ์ ๕ และปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นต้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรคว่า

ชื่อว่าชวนปัญญา เพราะความหมาย ปัญญาเทียบเคียง พินิจ พิจารณา ทำให้แจ่มแจ้งว่า รูป เวทนา ฯลฯ จักษุ ฯลฯ อวิชชา ฯลฯ ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เพราะหมายความว่า ไม่มีแก่นสาร แล้วแล่นไปในพระนิพพานเป็นที่ดับ(สิ่งที่เป็นอนัตตาคือ)รูป ฯลฯ ชรามรณะได้ไว ."

และทรงให้ยินดีในพระนิพพานอันเป็นสาระเพราะปราศจากสิ่งที่เป็นอนัตตาอันไม่มีสาระเสีย ดังที่ตรัสไว้ในนิพพานธาตุสูตร (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๒๒/๒๓๒) ว่า "ชนเหล่าใดรู้บทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่งแล้วนี้ มีจิตหลุดพ้นแล้ว เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ ชนเหล่านั้นยินดีแล้วในนิพพาน เป็นที่สิ้นกิเลส เพราะบรรลุธรรมอันเป็นสาระ..."

วิสุทธิอัตตา

จากคำถามที่ว่า สิ่งที่เป็นอัตตาที่แท้จริงมีหรือไม่?

ในอรรถกถา ปฐมนิพพานสูตร ว่า "เพราะสังขตธรรมมีอยู่ แม้อสังขตธาตุก็มี เพราะมีความเป็นคู่ปรับต่อสภาวธรรม ฯลฯ เมื่อทุกข์มี ชื่อว่าสุขก็มีฉันใด เมื่อภพ (สภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) มี วิภพ สภาวะที่ปราศจากภพก็จำต้องปรารถนาฉันนั้น" ดังนี้เป็นต้น ดังนั้น เมื่อสิ่งที่มิใช่อัตตาที่แท้จริง (อนัตตา) มี สภาวะที่ตรงกันข้ามกับอนัตตา ก็ย่อมต้องมีเหมือนกัน สภาวะนั้น ควรมีนามบัญญัติว่าอะไรบ้าง ? ขอเฉลยว่า สภาวะนั้นมีนามบัญญัติหลายอย่างที่แสดงถึงพุทธภาวะภายใน คือ ธรรมกาย อันเป็นอัตตา เพราะมีสภาพเที่ยงเป็นต้น ดังในอรรถกถาอุทเทสวิภังว่า "ผิว่า สังขารไรๆ เป็นของเที่ยง หรือยั่งยืนไซร้ ก็จักเป็นของควรยึดถือว่า เป็นตน หรือเนื่องด้วยตนได้" ซึ่งได้แก่ ความเป็นพระสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายผู้มีความบริสุทธิ์หมดจดจากสังขตธรรมทั้งปวง จากความยึดถือด้วยอำนาจตัณหาเป็นต้นทั้งปวง ที่ท่านเรียกว่า วิสุทธิเทพบ้าง ปรมวิสิทธิเทพบ้าง ดังในอรรถกถามูลปริยายสูตรกล่าวว่า "พระอรหันตขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า วิสุทธิเทพ" ส่วนพระสัมพุทธเจ้าท่านเรียกว่า ปรมวิสุทธิเทพ ดังในอรรถกถาเหมวสูตรว่า "จริงอยู่ในราตรีนั้น ชมพูทวีปทั้งสิ้นประดับประดาแล้วด้วยแสงสว่างแห่งร่างกาย ฯลฯ...และตกแต่เป็นพิเศษด้วยแสงสว่างแห่งพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็น ปรมวิสุทธิเทพ (เทพที่มีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง)"

คำเหล่านี้เป็นนามบัญญัติที่ใช้แทนหรือใช้เรียกท่านผู้บรรุผลแห่งบารมี มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ทรงพุทธภาวะภายใน คือ ธรรมกาย อันเป็นตัวตนที่แท้จริง เพราะบารมีกำจัดข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายจาก ธรรมกาย อันเป็นอัตตาเสียได้ เพราะเหตุนั้นพระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวไว้ดังข้างต้นว่า "บารมี ย่อมทำลายคือเบียดเบียนข้าศึกอื่นจาก ธรรมกาย อันเป็นอัตตา หรือทำลายคือเบียดเบียนหมู่โจรคือกิเลส อันทำความพินาศแก่ ธรรมกาย อันเป็นอัตตานั้น"

ฉะนั้น ท่านเหล่านั้น แม้กล่าวว่า เรา ของเรา อันแสดงถึงอัตตาภายใน คือ ธรรมกาย อันบริสุทธิ์ แต่ก็หากล่าวด้วยอำนาจความยึดถือเยี่ยงปุถุชนผู้ยังมีกิเลสไม่ ดังที่ท่านกล่าวไว้ใน อรรถกถา พราหมณสูตร จตุกกนิบาต ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ว่า

"บทว่า อหํ (เรา) เป็นบทแสดงถึงอัตตา (ตัวตน). อธิบายว่า อัตตา กล่าวคือสันดานอันเป็นของตนที่เที่ยงแท้ ไม่ใช่บุคคลอื่น เรียกว่า อหํ (เรา). ก็พระศาสดาทรงปฏิญญาอยู่ว่า เรา(อัตตา)มี คือเมื่อทรงปฏิญญาความเป็นพราหมณ์ (ที่แท้จริงคือผู้ลอยบาปได้แล้ว) โดยปรมัตถ์ ที่กำลังตรัสถึงว่า อหํ (เราตถาคต) ว่ามีอยู่ในพระองค์ จึงได้ตรัสว่า เราตถาคตมี และบทว่า เราตถาคตมี พระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ตรัสเหมือนอย่างที่ปุถุชนทั้งหลาย ผู้ยังละอนุสัย คือ ทิฏฐิและมานะไม่ได้แล้ว พูดเบ่งด้วยอำนาจการยึดมั่นด้วยทิฏฐิมานะและความดูหมิ่นว่า เรามี เราเป็นพรหม เป็นมหาพรหมและว่าเราประเสริฐกว่า"

อนึ่ง เหล่าสัตว์ผู้ทรงกายอันสังขตธรรม (คือ บุญหรือบาป) ปรุงแต่งซึ่งมีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อมเวียนเกิดในภพคือที่อยู่อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาฉันใด

พระสัมพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้เป็น ธรรมกาย เพราะบรรลุผลแห่งบารมีธรรมอันเป็น อสังขตธาตุซึ่งมีลักษณะเที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตา อันตรงกันข้ามกับสังขตธรรม ย่อมไปสู่วิภพคืออายตนะนิพพานดังที่ท่านกล่าวไว้ในสังยุตตกนิกาย สฬายตนวรรคว่า "พระนิพพานเป็นคติ (ทางไป) ของพระอรหันต์ทั้งหลาย" เพราะอายตนะ (นิพพาน) มีสภาพเที่ยง เป็นสุขเป็นต้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ปกรณ์วิเสสชื่อวิสุทธิมรรคว่า "แม้อนุปัสสนามีอนิจจานุปัสนาเป็นต้นนี่ ก็เรียกได้ว่า เป็นปริจจาคปฏินิสสัคคะ และเป็นปักขันทนปฏินิสสัคคะ เพราะสละกิเลสทั้งหลายเสียพร้อมทั้งขันธ์และอภิสังขาร (คือ กรรม) ด้วยตทังคปหาน และเพราะด้วยการเห็นโทษในสังขตธรรม จึงแล่นไปเสียในพระนิพพานอันตรงกันข้ามกับสังขตธรรมนั้น"

ในฎีกาปรมัตถมัญชุสาขยายความว่า คำว่า ด้วยการเห็นโทษในสังขตธรรม ได้แก่ ด้วยการเห็นโทษ มีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นต้นในสังขตธรรมทั้งหลาย (คำว่าเป็นต้นรวมเป็นอนัตตาด้วย)

คำว่า (พระนิพพาน) อันตรงกันข้ามกับสังขตธรรม นั้น คือ พระนิพพานมีสภาพเที่ยง เป็นสุขเป็นต้น (นิจฺจสุขาทิสภาเว) "(คำว่าอาทิ (เป็นต้น) หมายความรวมเอาเป็นอัตตาด้วยเพราะตรงข้ามกับอนัตตา)" เพราะฉะนั้น จึงได้ความหมายว่า ด้วยการเห็นโทษมีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตาเป็นต้น ในสังขตธรรมทั้งหลาย จึงแล่นไปเสียในพระนิพพานอันมีสภาพเที่ยง เป็นสุขและเป็นอัตตาเป็นต้น ฉะนี้แลฯ

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้